09 March 2015

หนึ่งขวบปริศนา MH370

ครบ 1 ปี ของการหายไปเครื่องบินมาเลเซีย Flight MH370 หากใครที่ยังติดตามข่าวตั้งแต่วันแรกก็คงคิดเหมือนกันว่าจากการหายของเครื่องที่ดูเป็นอุบัติเหตุธรรมดากลายไปเป็นการหายไปของเครื่องบินที่มีมูลค่าในการค้นหาสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์โลก และจนถึงวันนี้การค้นหาก็ยังคงดำเนินต่อไป เพราะคำตอบอยู่ยังอยู่ในตัวเครื่องที่ต้องหาให้เจอนี่แหละ

MH370 flight path derived from primary and secondary radar data [Image source: Andrew Heneen]
ความพยายามในค้นหาเครื่อง MH370 ได้ถูกตัดสินใจโดยอ้างอิงข้อมูลที่เชื่อถือได้มากที่สุดเป็นตัวตั้ง แม้ว่าจะมีทฤษฏีมากมายที่บุคคลทั่วไปหรือสื่อสารมวลชลพยายามเติมเข้ามาถึงความเป็นไปได้ แต่ทั้งหมดซึ่งทุกฝ่ายก็พยายามใช้ข้อมูลที่ดีที่สุดในการประเมินแล้ว คำถามที่เกิดในลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญที่มีคำตอบแล้ว มีดังนี้

ขาดการติดต่อที่นำไปสู่การหายไป
การหายไปของเครื่อง MH370 เกิดขึ้นในจังหวะรอยต่อการเปลี่ยนพื้นที่ติดต่อ ATC (Air Traffic Control) ในการบินของเครื่องจะต้องผ่าน Way-point ของเส้นทางการบิน ซึ่งหลังจากการยืนยันระดับความสูงและฟังข้อมูลของความถี่วิทยุที่จะส่งต่อไปยังความถี่ 120.9MHz ของศูนย์ควบคุมการบินเวียดนามแล้ว กลายเป็นการติดต่อทางวิทยุครั้งสุดท้าย ที่เวลา 1.19 น. ของวันที่ 9 มีนาคม ตามเวลาของมาเลเซีย

เครื่องบินถูกปิดอุปกรณ์ Transponder
เวลา 1.21 น. หรือประมาณสามนาทีให้หลังจากการติดต่อทางวิทยุ สถานี Secondary Radar ไม่สามารถจับสัญญาณจาก MH370 ได้ โดยสถานะล่าสุดของสัญญาณระบุว่ายังบินด้วยความเร็วปกติที่ 872 km/h แล้วความสูงปกติที่ 35,000 feet หรือเรียกสถานะการบินนี้ว่า Cruising Altitude

ความพยายามในการติดต่อสื่อสาร
หลังจาก 7 นาทีจากการติดต่อทางวิทยุ ที่ศูนย์สื่อสาร ATC ของเวียดนามไม่สามารถติดต่อกับเครื่องบินทางวิทยุได้ จึงได้ทำการขอไปยังเครื่องบินที่อยู่ใกล้คือเที่ยวบิน MH386 ทำการเรียกผ่านช่องวิทยุฉุกเฉินในเวลา 1.30 น. แต่ไม่มีสัญญาณตอบกลับ ศูนย์วิทยุการบินได้ทำการประสานไปยังศูนย์ควบคุมเดินอากาศของกัมพูชาที่ยืนยันว่าไม่มีการติดต่อเข้ามาของ MH370 จนกระทั่งเวลา 5.19 น. ทางศูนย์มาเลยเซียได้ทดลองให้ศูนย์เวียดนามประสานไปยังประเทศจีน รวมไปถึงศูนย์วิทยุการบินสิงคโปร์ได้ทำข้อมูลสอบถามเข้ามายังมาเลเซีย จึงได้ข้อสรุปว่า เที่ยวบิน MH370 ไม่ได้ข้ามเขตการเดินอากาศของประเทศมาเลเซียไปที่ใดเลย อีกทั้งในเวลา 2.39 น. และเวลา 7.13 น. ก็มีการใช้โทรศัพท์ดาวเทียมโทรเข้าไปหาห้องนักบินของเที่ยวบิน MH370 แต่ก็ไม่มีการรับสายเช่นกัน

กองทัพอากาศตรวจจับผ่าน Primary Radar
หลังจากการหายไปของอุปกรณ์ Transponder ที่มีรายละเอียดของข้อมูลการบินที่ครบถ้วนที่อยู่ใน Secondary Radar ภายหลังทางกองทัพอากาศมาเลเซียได้เปิดเผยข้อมูลเรดาร์ที่ตรวจจับได้ โดยข้อมูลพบว่ามีเครื่องบินที่ไม่ปรากฎข้อมูล และคาดว่าตรงกับช่วงเวลาที่ติดต่อ MH370 ไม่ได้ เครื่องได้ทำการเลี้ยวกลับและไต่ระดับขึ้นไปที่ 45,000 feet จากนั้นลดระดับไปที่ 23,000 feet เมื่อใกล้ถึงเกาะปีนัง และทำการลดระดับไปที่ 12,000 feet ในช่วงที่ผ่านช่องแคบมะละกา จนกระทั่งไปถึงขอบเขตสัญญาณเรดาร์ที่ระยะ 230 nm (ประมาณ 350km) ก็ทำการปรับระดับเป็น 29,500 feet ตัวเครื่องได้หายไปจากจอเรดาร์ในเวลา 2.22 น.

MTAF Primary radar of MH370
ด้วยปัญหาทางด้านความมั่นคง ประเทศอินโดนีเซีย, อินเดีย, อัฟกานิสถาน ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลของเรดาร์เนื่องจากเป็นข้อมูลปกปิดเรื่องความสามารถในการตรวจจับผ่านเรดาร์ ต่างก็ปฏิเสธการให้ข้อมูลและยืนยันว่าไม่พบเครื่องบินแปลกปลอมในช่วงเวลาดังกล่าว มีเพียงประเทศไทยที่ยืนยันการตรวจพบเรดาร์ของเครื่องที่ไม่ระบุอยู่เหนือเกาะสุมาตราในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

สัญญาณจาก Immarsat
Immarsat signal detect by angle boundary
ยังมีอุปกรณ์อีกชุดหนึ่งที่ถูกติดตั้งอยู่เครื่อง MH370 ที่ทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อเครื่องทำการบินอยู่ โดยข้อมูลที่ได้เป็นการรายงานสถานะการทำงานของเครื่องยนตร์โดย log-on กับสัญญาณดาวเทียม ซึ่งเริ่มเมื่อ

เวลา 2.25 น. ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดความสนใจในการบินอยู่ของเครื่อง MH370 อีกหลายชั่วโมง ทำให้ฝ่ายภาคพื้นทราบว่า เครื่องทำการบินต่อไปอีก 7 ชั่วโมงและคาดว่าน้ำมันได้หมดลงไปเอง ทั้งนี้ลำดับการทำ Handshake กับดาวเทียม มีการติดต่อกันถึง 7 ครั้ง ดังนี้
เวลา 02:25:27 – ทำ handshake ครั้งแรก – log-on โดยเป็นคำขอจากตัวเครื่อง
เวลา 02:39:52 – การโทรเข้า Cockpit ผ่านโทรศัพท์ดาวเทียม, อุปกรณ์ทำงานแต่ไม่มีคนรับสาย
เวลา 03:41:00 – การทำ handshake ครั้งที่สอง โดยคำร้องจากภาคพื้น
เวลา 04:41:02 – การทำ handshake ครั้งที่สาม โดยคำร้องจากภาคพื้น
เวลา 05:41:24 – การทำ handshake ครั้งที่สี่ โดยคำร้องจากภาคพื้น
เวลา 06:41:19 – การทำ handshake ครั้งที่ห้า โดยคำร้องจากภาคพื้น
เวลา 07:13:58 – การโทรเข้า Cockpit ผ่านโทรศัพท์ดาวเทียมครั้งที่สอง, อุปกรณ์ทำงานแต่ไม่มีคนรับสาย
เวลา 08:10:58 – การทำ handshake ครั้งที่หก โดยคำร้องจากภาคพื้น
เวลา 08:19:29 – การทำ handshake ครั้งที่เจ็ด ส่งจากเครื่องบิน มีข้อมูลไม่ครบถ้วน เป็นการส่งครั้งสุดท้าย

ด้วยการรับสัญญาณได้โดยดาวเทียม Immarsat ในครั้งสุดท้าย เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราได้เห็นภาพ Arc ของการค้นหา จากการที่สัญญาณสามารถคำนวณมุมรับสัญญาณจากเครื่อง MH370 ได้ที่ 40 องศาจากหน้าจานของดาวเทียม และการคำนวณ Doppler Shift ในการรับส่งทำให้ทราบว่าเครื่องมุ่งหน้าลงไปทางทิศใต้ และปัจจุบันยังเป็นข้อสรุปล่าสุดในการค้นหา MH370 ในพื้นที่ 7th Arc พื้นที่ 60,000 ตารางกิโลเมตรในปัจจุบันนี้

MH370 ยังเป็นเหตุการณ์เครื่องบินสูญหายโดยขาดร่องรอยทั้งอุปกรณ์ที่ควรจะแตกหักจากเครื่อง การปิดตัวของอุปกรณ์ Transponder ทั้งสองตัว การไม่ทำงานของอุปกรณ์ ELT

Searching [Image source: indiatimes.com]
การค้นหา
รูปแบบการค้นหาเครื่อง MH370 ยังมีความพยายามอยู่ในกรอบของข้อมูลที่ปรากฎอยู่ แม้ว่าจะมีทฤษฏีหลากหลายจากหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การขโมยเครื่อง, การหลอกสัญญาณดาวเทียม, การค้นหาจากภาพถ่ายดาวเทียม, การเกิดอุบัติเหตุจากไฟไหม้ในเครื่อง, หรือคำกล่าวอ้างของผู้พบเห็นเหตุการณ์ แต่จุดที่ค้นหาก็ยังเป็นก้นมหาสมุทรอินเดียที่มีความลึกมากกว่า 3km ในเขต Arc ที่ 7 ตลอดทั้งแนวต่อไป ท่ามกลางความรอคอยจากญาตที่สูญเสีย เรายังต้องรอจนกว่าจะมีข้อมูลหรือทฤษฎีใหม่ หรือการค้นหาที่ยังต้องอดทนทำต่อไปในสภาพการค้นหาที่ยากลำบากจึงจะนำไปสู่การค้นพบในครั้งนี้ต่อไป

Written by Tiwakorn Laophulsuk

No comments:

Post a Comment

Give a comment ...