13 March 2015

ภาษีบ้าน กับการใช้งานแบบรู้ไม่จบกระบวน (by Panit Pujinda)

[Source: Facebook Panit Pujinda]

รัฐบาลออกแนวทางภาษีบ้านอัตราใหม่ตามร่าง พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาให้ประชาชนชื่นชมกันถ้วนหน้า แต่ไม่เห็นรัฐมนตรีหรือข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องออกมาอธิบายหลักการของภาษีที่ดินฯ แต่อย่างใด เมื่อคนที่ควรทำหน้าที่อธิบายไม่ทำหน้าที่ ก็ตกที่กูอีกหละครับ

ในมุมของการพัฒนาเมือง ภาษีที่ดินเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยชี้นำการพัฒนาเชิงกายภาพในที่ดินภาคเอกชนเป็นไปตามทิศทางที่ได้กำหนดไว้และในอีกมุมหนึ่งคือการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรขาดแคลน นั่นคือ ที่ดิน โดยมีหลักคิดอยู่ 2 ประการ ได้แก่

1. เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาในภาพรวม และโครงสร้างพื้นฐานที่ได้เตรียมไว้ โดยใช้มาตรการภาษีเพื่อทำให้เกิดค่าธรรมเนียมอย่างเป็นธรรมกับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสม และมีค่าปรับต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินและระดับความเข้มข้นที่ไม่สนับสนุนหรือขัดแย้งกับนโยบายของรัฐที่มีต่อพื้นที่นั้น ๆ

เข้าใจก่อนว่า สำหรับประเทศไทยมีการถือครองที่ดินแบบ Free Hold คือประชาชนเป็นเจ้าของที่ดินโดยสมบูรณ์ การบังคับเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินจึงเป็นเรื่องขัดกับสิทธิเสรีภาพ จึงต้องใช้วิธีสร้างข้อกำหนดทางการเงิน (ภาษี) เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนา และมีค่าปรับถ้าไม่พัฒนาตามที่กำหนดไว้ ภาษีในอัตราสูงกว่าปกติจึงถูกนำมาใช้กับการใช้ที่ดินที่มากกว่าหรือน้อยกว่าแนวทางที่ได้กำหนดไว้ เป็นการป้องกันการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่สอดคล้องกับการพัฒนาในภาพรวม ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีบ้าน/ที่ดินขนาดใหญ่อยู่บนถนนสีลม แนวทางในภาพรวมบอกว่าต้องเป็นสำนักงานหรือพาณิชยกรรมที่มีความเข้มข้นสูง โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เตรียมไว้แล้วทั้งหมด แต่คุณยืนยันว่าฉันจะเป็นบ้านเดี่ยวดังเดิม ก็ได้ แต่ต้องเสียภาษีมากกว่าอัตราปกติ เพราะคุณเอาทรัพยากรขาดแคลนมากไปใช้อย่างไม่คุ้มประโยชน์ ก็จ่ายมาซะ ถ้าจ่ายไม่ไหวก็ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าเสีย

2. เพื่อป้องกันการเก็งกำไรที่ดิน/อสังหาริมทรัพย์ อัตราภาษีในร่างพรบ. ที่ดินฯ มีเป้าหมายอีกประการหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดการเก็งกำไรที่ดิน ซึ่งมีผลให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างไม่คุ้มค่าและคนที่มีความต้องการใช้ที่ดินจริง ๆ ต้องจ่ายในอัตราที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นเพราะถูกคนเก็งกำไรไปซื้อดักหน้าไว้เพื่อมาเอากำไรทีหลัง สมมติว่าผมมีเงินพอจะซื้อบ้านราคาสองล้านบาท เจ้าของโครงการก็ตั้งราคาไว้สองล้านเช่นกัน แต่ผมซื้อไม่ได้เพราะมีนักเก็งกำไรที่ดินไปกวาดไว้เสียหมด บอกว่าถ้าผมจะซื้อหลังเดียวกันนี้ต้องจ่าย 2.5 ล้านบาท คนจนอย่างผมที่มีความประสงค์จะใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยจริงๆ ก็เสียโอกาสที่จะได้บ้าน/ที่ดินในราคาที่เหมาะสม ภาษีที่ดินในอัตราสูงจะเป็น "ส่วนหนึ่ง" ที่ช่วยป้องกันการเก็งกำไรที่ดินได้ในระดับหนึ่ง

เท่าที่อ่านมา ฟังดูดีไหมครับ รัฐบาลน่าจะทำถูกแล้วนี่หน่า แต่ ๆ ๆ ๆ ๆ สาระสำคัญที่สุดอยู่ต่อจากนี้

ภาษีที่ดินฯ คือ ส่วนหนึ่งของมาตรการในผังเมืองรวมครับ แปลว่า ต้องมีผังเมืองรวม กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินลงในแต่ละส่วนของเมืองก่อน แล้วจึงมีมาตรการด้่านภาษีที่ดินตามมา เช่น พื้นที่พาณิชยกรรมหลักของเมือง (ถ้าเป็นผังเมืองรวม กทม. ๒๕๕๖ คือสีแดง พ.๕) มีอัตราภาษีที่ดินฯ ในอัตราเท่านี้ เพราะนักเศรษฐศาสตร์ที่ดินคำนวณแล้วว่า ต้องอัตราเท่านั้นเท่านี้ จึงจะเป็นค่าปรับที่มีผลทางเศรษฐศาสตร์มากพอที่จะผลักดันให้เจ้าของที่ดินยอมใช้ที่ดินและอาคารตามที่ผังเมืองรวมกำหนดไว้ พื้นที่ประเภทอื่น ก็จะมีอัตราและมาตรการที่ต่างกันออกไป ส่วนใครใช้ที่ดินตามนโยบายที่กำหนดไว้แล้ว เช่น ใช้พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) เป็นหมู่บ้านจัดสรร แบบนี้ก็เสียภาษีที่ดินฯ ขั้นต่ำตามหลักค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพยากรขาดแคลนเท่านั้น เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์ตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้แล้ว ตามหลักการนี้ ภาษีที่ดินฯ จะต้อง
  • มีผังเมืองรวมมาเป็นตัวตั้ง เพื่อเป็นแนวทางว่าจะใช้ประโยชน์ทีด่ินอย่างไรจึงจะเหมาะสม และเก็บภาษีอย่างเป็นธรรมกับการใช้ประโยชน์ที่่ดินที่สอดคล้องกับผังเมืองรวม ส่วนที่ไม่สอดคล้องก็เสียภาษีในอัตราสูงขึ้นไป
  • แต่ละพื้นที่จะมีอัตราภาษีแตกต่างกันไป ตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ดิน เพราะแต่ละพื้นที่ย่อมมีศักยภาพ มูลค่า และผลกระทบแตกต่างกัน ไม่ใช่อัตราเดียวกันหมดทั่วประเทศ
  • กำหนดและบังคับใช้โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่รัฐบาลกลาง เพราะเป็นอัตราภาษีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของแต่ละท้องถิ่น จะเป็นอัตราเดียวกันไม่ได้ เช่น บาง อปท. ต้องการดึงดูดที่อยู่อาศัยชั้นดี อาจกำหนดภาษีบ้านเดี่ยว/บ้านจัดสรรในราคาต่ำกว่า อปท. อื่น ๆ เพื่อสร้างแรงดึงดูดตามนโยบาย ก็ได้ รัฐบาลมีหน้าที่คุมนโยบายในภาพรวมเท่านั้น ไม่ใช่ลงไปเล่นกับเรื่องของท้องถิ่นเอง
สรุปความง่าย ๆ ว่า รัฐบาลรู้ว่ามีเครื่องมือในการกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองที่เรียกว่า "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไรในแก่นแท้ และมันใช้งานอย่างไร ซึ่งถ้าติดตามรัฐบาลชุดนี้มานานหน่อย ก็จะพบว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ สนช. แต่ละคนไม่ได้มีที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถมาอยู่ข้าง ๆ ตัว มีแต่คนในครอบครัวเดียวกันมาให้คำปรึกษานี่หน่า

วันนี้เป็นวันมาฆบูชา วันพระใหญ่ ผมจึงได้สาธุประเทศไทยถึงสองเรื่องสองครั้ง ดีใจจัง

Written by Panit Pujinda

No comments:

Post a Comment

Give a comment ...