20 March 2015

เครื่องซักผ้า ฝาหน้า หรือ ฝาบน

ขออนุญาตนำเสนอความรู้สำหรับพ่อบ้านซักหน่อย เพื่อคนที่กำลังจะทำบ้านใหม่ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองเพราะอุปกรณ์ประจำบ้านตัวนึงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับคนเมืองก็คงเป็นเครื่องซักผ้านี่แหละ

ถ้าเราไปเดินตามห้างสรรพสินค้า เครื่องซักผ้าที่วางขายจะมีอยู่สองรูปแบบคือ เครื่องซักผ้าแบบฝาบน และเครื่องซักผ้าแบบฝาหน้า ในช่วงแรกของการมีเทคโนโลยีทุกคนน่าจะต้องเคยใช้เครื่องแบบฝาบนมาอยู่แล้ว บางบ้านซื้อมาหลายปีก็ยังใช้ได้ดี แต่อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เครื่องฝาหน้าขายได้ล่ะ? ยิ่งดูราคาเฉลี่ยฝาหน้าน่ะ แพงกว่าเยอะ

Blog นี้ขออนุญาตไม่พูดถึงฟังค์ชันพิเศษ พวกเครื่องอบผ้า หรือพวกหัวฉีดโน่นนี่อัจฉริยะน่ะครับ อยากแชร์เฉพาะคุณสมบัติพื้นฐานที่ต้องเลือกก็พอ

ข้อดีของเครื่องฝาบน
- ใช้ง่าย จับผ้าโยนโครมๆไป เป็นอันใช้ได้
- การมี function แช่ผ้าที่มีประสิทธิภาพเพราะน้ำในเครื่องเยอะกว่า
- สามารถเติมผ้าได้ แม้การซักจะเริ่มไปแล้ว
- ไม่มีน้ำใช้ สามารถยกถังน้ำมาเติมได้เลย ขอให้มีไฟฟ้าอย่างเดียว
- ค่าเฉลี่ยจากราคาถูกกว่ามาก

จุดอ่อนของฝาบน
- การซักใช้น้ำลงถัง จะเปลืองน้ำในปริมาณมากกว่า
- ปัญหาผ้าบิดเกลียว เพราะการปั่นหรือซักทำให้เกิดสภาวะน้ำวน
- ส่วนใหญ่แล้วเสียงดังกว่า เพราะมอร์เตอร์กำลังแรงกว่า
- เหมาะในพื้นที่เปิดโล่ง หรือต้องมีที่จัดวางเฉพาะ

ข้อดีของเครื่องฝาหน้า
- การคำนวณน้ำหนักผ้า และใช้การฉีดน้ำและหมุนทำความสะอาด ทำให้ประหยัดน้ำมากกว่า
- ใช้กำลังไฟฟ้าในการซักน้อยกว่า เพราะการปั่นจะใช้แรงดึงดูดกับระนาบของพื้น ตัวมอร์เตอร์ออกแรงน้อยกว่า
- ผ้าไม่เกาะหรือกินกิน เพราะส่วนใหญ่เป็นการกลิ้งไปรอบๆถังซัก
- ผ้ายับน้อยกว่า (มาก) เพราะไม่ค่อยเกิดการบิดเกลียว
- เหมาะกับพื้นที่ที่ต้องอยู่ใต้เฟอร์นิเจอร์ตัวอื่น ด้านบนของเครื่องเป็นที่วางของเอนกประสงค์ได้ หรืออยู่ในคอนโดที่มีที่จำกัดมากๆ
- เสียงเบา เพราะมอร์เตอร์กำลังต่ำ และปัจจุบันยิ่งแข่งกันเงียบมากขึ้น

13 March 2015

ภาษีบ้าน กับการใช้งานแบบรู้ไม่จบกระบวน (by Panit Pujinda)

[Source: Facebook Panit Pujinda]

รัฐบาลออกแนวทางภาษีบ้านอัตราใหม่ตามร่าง พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาให้ประชาชนชื่นชมกันถ้วนหน้า แต่ไม่เห็นรัฐมนตรีหรือข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องออกมาอธิบายหลักการของภาษีที่ดินฯ แต่อย่างใด เมื่อคนที่ควรทำหน้าที่อธิบายไม่ทำหน้าที่ ก็ตกที่กูอีกหละครับ

ในมุมของการพัฒนาเมือง ภาษีที่ดินเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยชี้นำการพัฒนาเชิงกายภาพในที่ดินภาคเอกชนเป็นไปตามทิศทางที่ได้กำหนดไว้และในอีกมุมหนึ่งคือการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรขาดแคลน นั่นคือ ที่ดิน โดยมีหลักคิดอยู่ 2 ประการ ได้แก่

1. เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาในภาพรวม และโครงสร้างพื้นฐานที่ได้เตรียมไว้ โดยใช้มาตรการภาษีเพื่อทำให้เกิดค่าธรรมเนียมอย่างเป็นธรรมกับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสม และมีค่าปรับต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินและระดับความเข้มข้นที่ไม่สนับสนุนหรือขัดแย้งกับนโยบายของรัฐที่มีต่อพื้นที่นั้น ๆ

เข้าใจก่อนว่า สำหรับประเทศไทยมีการถือครองที่ดินแบบ Free Hold คือประชาชนเป็นเจ้าของที่ดินโดยสมบูรณ์ การบังคับเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินจึงเป็นเรื่องขัดกับสิทธิเสรีภาพ จึงต้องใช้วิธีสร้างข้อกำหนดทางการเงิน (ภาษี) เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนา และมีค่าปรับถ้าไม่พัฒนาตามที่กำหนดไว้ ภาษีในอัตราสูงกว่าปกติจึงถูกนำมาใช้กับการใช้ที่ดินที่มากกว่าหรือน้อยกว่าแนวทางที่ได้กำหนดไว้ เป็นการป้องกันการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่สอดคล้องกับการพัฒนาในภาพรวม ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีบ้าน/ที่ดินขนาดใหญ่อยู่บนถนนสีลม แนวทางในภาพรวมบอกว่าต้องเป็นสำนักงานหรือพาณิชยกรรมที่มีความเข้มข้นสูง โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เตรียมไว้แล้วทั้งหมด แต่คุณยืนยันว่าฉันจะเป็นบ้านเดี่ยวดังเดิม ก็ได้ แต่ต้องเสียภาษีมากกว่าอัตราปกติ เพราะคุณเอาทรัพยากรขาดแคลนมากไปใช้อย่างไม่คุ้มประโยชน์ ก็จ่ายมาซะ ถ้าจ่ายไม่ไหวก็ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าเสีย

09 March 2015

หนึ่งขวบปริศนา MH370

ครบ 1 ปี ของการหายไปเครื่องบินมาเลเซีย Flight MH370 หากใครที่ยังติดตามข่าวตั้งแต่วันแรกก็คงคิดเหมือนกันว่าจากการหายของเครื่องที่ดูเป็นอุบัติเหตุธรรมดากลายไปเป็นการหายไปของเครื่องบินที่มีมูลค่าในการค้นหาสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์โลก และจนถึงวันนี้การค้นหาก็ยังคงดำเนินต่อไป เพราะคำตอบอยู่ยังอยู่ในตัวเครื่องที่ต้องหาให้เจอนี่แหละ

MH370 flight path derived from primary and secondary radar data [Image source: Andrew Heneen]
ความพยายามในค้นหาเครื่อง MH370 ได้ถูกตัดสินใจโดยอ้างอิงข้อมูลที่เชื่อถือได้มากที่สุดเป็นตัวตั้ง แม้ว่าจะมีทฤษฏีมากมายที่บุคคลทั่วไปหรือสื่อสารมวลชลพยายามเติมเข้ามาถึงความเป็นไปได้ แต่ทั้งหมดซึ่งทุกฝ่ายก็พยายามใช้ข้อมูลที่ดีที่สุดในการประเมินแล้ว คำถามที่เกิดในลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญที่มีคำตอบแล้ว มีดังนี้

ขาดการติดต่อที่นำไปสู่การหายไป
การหายไปของเครื่อง MH370 เกิดขึ้นในจังหวะรอยต่อการเปลี่ยนพื้นที่ติดต่อ ATC (Air Traffic Control) ในการบินของเครื่องจะต้องผ่าน Way-point ของเส้นทางการบิน ซึ่งหลังจากการยืนยันระดับความสูงและฟังข้อมูลของความถี่วิทยุที่จะส่งต่อไปยังความถี่ 120.9MHz ของศูนย์ควบคุมการบินเวียดนามแล้ว กลายเป็นการติดต่อทางวิทยุครั้งสุดท้าย ที่เวลา 1.19 น. ของวันที่ 9 มีนาคม ตามเวลาของมาเลเซีย

เครื่องบินถูกปิดอุปกรณ์ Transponder
เวลา 1.21 น. หรือประมาณสามนาทีให้หลังจากการติดต่อทางวิทยุ สถานี Secondary Radar ไม่สามารถจับสัญญาณจาก MH370 ได้ โดยสถานะล่าสุดของสัญญาณระบุว่ายังบินด้วยความเร็วปกติที่ 872 km/h แล้วความสูงปกติที่ 35,000 feet หรือเรียกสถานะการบินนี้ว่า Cruising Altitude

ความพยายามในการติดต่อสื่อสาร
หลังจาก 7 นาทีจากการติดต่อทางวิทยุ ที่ศูนย์สื่อสาร ATC ของเวียดนามไม่สามารถติดต่อกับเครื่องบินทางวิทยุได้ จึงได้ทำการขอไปยังเครื่องบินที่อยู่ใกล้คือเที่ยวบิน MH386 ทำการเรียกผ่านช่องวิทยุฉุกเฉินในเวลา 1.30 น. แต่ไม่มีสัญญาณตอบกลับ ศูนย์วิทยุการบินได้ทำการประสานไปยังศูนย์ควบคุมเดินอากาศของกัมพูชาที่ยืนยันว่าไม่มีการติดต่อเข้ามาของ MH370 จนกระทั่งเวลา 5.19 น. ทางศูนย์มาเลยเซียได้ทดลองให้ศูนย์เวียดนามประสานไปยังประเทศจีน รวมไปถึงศูนย์วิทยุการบินสิงคโปร์ได้ทำข้อมูลสอบถามเข้ามายังมาเลเซีย จึงได้ข้อสรุปว่า เที่ยวบิน MH370 ไม่ได้ข้ามเขตการเดินอากาศของประเทศมาเลเซียไปที่ใดเลย อีกทั้งในเวลา 2.39 น. และเวลา 7.13 น. ก็มีการใช้โทรศัพท์ดาวเทียมโทรเข้าไปหาห้องนักบินของเที่ยวบิน MH370 แต่ก็ไม่มีการรับสายเช่นกัน