29 October 2013

เครียดหรือเปล่า

Stress?
[Image credit: The Noun Project]
ถ้าใครเคยรู้สึกว่าตัวเองหิวน้ำบ่อย หัวใจเต้นโครมๆ และวิงเวียนคล้ายจะเป็นลมตอนประชุมงาน ระหว่างทำงานก็มีอาการปวดไหล่ ปวดคอ ทั้งๆที่ไม่ได้นอนตกหมอน อีกทั้งช่วงนอนตอนกลางคืนก็ชอบตื่นมากลางดึกเองโดยไม่อะไรปลุกแล้วก็หลับต่อไป ตื่นเช้ามาก็เหนื่อยเหมือนกับไม่ได้นอนตั้งแต่เมื่อคืน บ่อยครั้งที่เราเข้าใจว่าสงสัยจะเป็นโรคหัวใจหรือปัญหาสุขภาพ แต่จริงๆแล้วมันเป็นเพียงสัญญาณของอาการเครียดที่เกินระบบร่างกายจะรับมือได้

คนที่ไม่เคยเป็นอาจจะไม่รู้ถึงอาการที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่งก็แล้วแต่ที่ในแต่ละคนก็จะแสดงลักษณะทางร่างกายที่มีผลกระทบจากความเครียดที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงลักษณะอาการแบบหนึ่งเท่านั้น

หากทุกคนเคยผ่านการทำงานที่ยาวนานต่อเนื่อง เช่น ทำงานวันละ 8 ชั่วโมงโดยไม่หยุดเสาร์อาทิตย์เลยซัก 3 สัปดาห์ หรือทำงานวันละ 12-14 ชั่วโมงสัปดาห์ละ 6 วัน คงเคยผ่านสภาวะความเครียดแบบนี้กันมาแล้ว ความรู้สึกของตัวเองจะไม่รู้ว่ามีเรื่องอะไรที่จะทำให้เครียดแม้จะทำงานหนักขนาดนั้น แต่นั่นคือเราเริ่มสะสมความเครียดและความล้าจากการทำงานเก็บเอาไว้

ผมเคยไปพบแพทย์งานจิตเวชในฐานะที่เคยประสบกับปัญหาเรื่องนี้ ประเด็นสำคัญคือ ตัวเราจะไม่รู้ว่าเรื่องอะไรที่ทำให้เครียด แต่สิ่งที่เกิดนั้นเป็นอาการทางร่างกายที่เกิดจากความเครียด คุณหมอเคยให้บริบทของการเกิดความเครียดว่า การควบคุมความเครียดของร่างกายเป็นเหมือนเขื่อนที่มีความสูงประมาณหนึ่ง หากเราควบคุมระดับของความเครียดไว้จะเป็นการช่วยทำให้เกิดแรงผลักดันในการทำงานที่ดี และมีสร้างผลสัมฤทธิ์ต่องานได้ แต่หากเมื่อใดความเครียดเกิดปัญหาเหมือน "น้ำล้นเขื่อน" ผลจากความเครียดที่สะสมไว้ทั้งหมดจะถูกเทออกมาทั้งหมดเหมือนเขื่อนแตก ไม่ใช่แค่เฉพาะส่วนที่ล้นออกมาเพียงส่วนเดียว

Stress level to performance [Source lesstewart.files.wordpress.com]

ผลกระทบลูกโซ่ที่เกิดจากความเครียดจะส่งผลต่อความมีสมาธิ, การนอน ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพการทำกิจกรรมในด้านต่างๆลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ยิ่งไปผลักดันให้มีความเครียดมากขึ้นไปอีก

ในสังคมไทย ที่ทำงานหลายที่ไม่เข้มข้นเท่ากับต่างประเทศจึงทำให้ไม่ค่อยพบกับอาการป่วยเหล่านี้มากนัก หรือ แม้ว่าจะมีคนป่วยแต่วัฒนธรรมของคนไทยเองก็ไม่ได้ไปพบกับจิตแพทย์ แต่ในประเทศที่เจริญแล้วจะพบผู้ป่วยในลักษณะอาการเหล่านี้สูงถึง 10% ของประชากรทั้งหมด

แม้ว่าคนทั่วไปจะสามารถรับมือกับงานได้หลากหลาย แต่ปัจจัยอื่นๆสามารถเพิ่มผลกระทบได้ทั้งเวลา, แรงกดดันจากภายนอก, สิ่งแวดล้อมทางกายภาพต่างๆ จึงเป็นข้อจำกัดในการทำงานของคนเรา ซึ่งส่งผลให้เกิดสภาวะ Fight or Flight (สู้หรือหนี) อยู่ตลอดเวลา วิธีการแก้ไขคือต้องพิจารณาเพื่ออยู่ให้ห่างจากสภาวะนั้นในระดับหนึ่ง หรือต้องหาวิธีบริหารจัดการเพื่อให้เหมาะสม

การ Fight ของผมคือการออกแบบงานให้เป็น Tasks ซึ่งช่วยให้เราสามารถเลือกรับทำ, ส่งต่อถ่ายทอดงานให้ผู้อื่น, หรือปฏิเสธงานในบางชิ้นได้ และส่วนที่เป็นการ Flight ของผมคือการขอโยกย้ายตำแหน่งงานเพื่อให้ออกห่างจากสภาวะที่ตัดสินใจลำบากหรือต้องทำในสิ่งที่ไม่เชี่ยวชาญ

Image credits mygoldentreasure.blogspot.com
บอกได้เลยว่าเวลาที่เครียดแล้วแม้คนรอบข้างจะบอกว่า "อย่าไปเครียด" นั้น ไม่เป็นการช่วยอะไรเลย แต่ผมอยากให้คนที่กำลังจะเป็นหรือเป็นอยู่มอง สุขภาพ, และงาน เหมือนลูกบอลแก้ว และลูกบอลยางที่ลอยอยู่และให้เราเลือกว่าจะรับลูกบอลไหน แล้วเราจะพบว่า "งานเครียดๆ" มันจะเป็นแค่ลูกบอลยางที่ปล่อยมันตกไปแล้วเดี๋ยวมันก็เด้งขึ้นมาเอง แต่สุขภาพของตัวเรานั้นหากเราปล่อยตกแตกเสียแล้วเราเองก็จะพบว่ามันไม่เหมือนเดิม

เมื่อความเครียดเกิดจากเรื่องภายในตัวของเราเอง เมื่อใช้เวลาสะสมมันมาก็ต้องใช้เวลาในการแก้ไขไป ไม่มีเรื่องใดที่จะแก้ไขได้โดยฉับพลัน

Written by Tiwakorn Laophulsuk

เรื่องที่เกี่ยวข้องในบทความ

No comments:

Post a Comment

Give a comment ...