เรื่องแปลกๆ ที่ชาวพุทธไทยมักให้ความสำคัญมากกว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างเรื่องพญานาคอะไรทำนองนี้เป็นเหตุให้อาตมาสงสัยมาตลอดว่าเรานับถือพระพุทธศาสนากันจริงๆ หรือเปล่า?
บ่อยครั้งหรืออาจจะนานแล้ว ที่เห็นหนังสือ Pocket Book ที่ (อ้างว่า) เป็นหนังสือธรรมะ พูดถึงเรื่องพญานาคที่โน่นที่นี่ บอกว่าเกจิอาจารย์ (ซึ่งก็คงไม่เข้าใจว่า คำว่าเกจิอาจารย์หมายถึงอะไร) องค์นั้นองค์นี้ หลวงปู่หลวงพ่อรูปนั้นรูปนี้ได้พบเห็นพญานาคที่ถ้ำแห่งโน้นแห่งนี้ เห็นที่ริมฝั่งแม่น้ำโน่นนี่นั่น หลายที่หลายแห่งหลายรูปหลายท่าน แล้วก็บอกว่าได้พบเห็นพญานาค ก็เป็นที่ตื่นตาตื่นใจอัศจรรย์ใจกันไปในหมู่ผู้เลื่อมใสศรัทธา แต่ในทัศนะของอาตมาไม่เข้าใจว่า การรู้เรื่องพวกนี้ มีประโยชน์อะไรต่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ หรือการกำจัดกิเลส หรือการบรรเทาทุกข์ในปัจจุบันและทุกข์ในภายหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนามุ่งเน้นและเป็นเป้าหมายสำคัญ
Thai respect to sand drawing graffiti (Image source is unknown) |
แท้ที่จริงพระพุทธศาสนามุ่งเน้นในศักยภาพของมนุษย์เป็นสำคัญ เพราะมนุษย์สามารถจะประกอบกิจการกุศลนานาประการได้ แม้แต่เทวดาก็ยังปรารถนาสุคติคือความเป็นมนุษย์ ดังในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต กล่าวถึงเทวดาเมื่อจะจุติ(ตาย) จากสวรรค์ไปเกิดใหม่ เทวดาเพื่อนก็จะบอกว่า ขอให้ท่านไปอุบัติในสุคติภูมิ คือโลกมนุษย์ เพื่อจะได้ทำบุญทำกุศล ได้พบพระพุทธศาสนา ได้บำเพ็ญธรรมปฏิบัติธรรม เมื่อเราศึกษาพระพุทธศาสนาจะเห็นว่า พระพุทธศาสนามุ่งจะพัฒนาศักยภาพของมนุษย์เป็นหลัก ให้มนุษย์มั่นใจว่าเราเป็นผู้ที่สามารถจะพ้นจากความทุกข์ได้ด้วยตัวเราเอง โดยไม่ต้องอาศัยไม่ต้องขอร้องอ้อนวอนผู้ยิ่งใหญ่ที่ไหน พญานาคแม้จะอยากบวช (ตามตำนานที่เคยมี และที่มีในพระวินัยปิฎก) ก็บวชไม่ได้ เพราะไม่ใช่มนุษย์ นั่นแสดงว่า มนุษย์สำคัญที่สุด ในแง่ที่ มีศักยภาพที่จะปฏิบัติธรรมที่จะหลุดพ้นด้วยตนเอง
อาตมาไม่เห็นว่าตำนานเรื่องพญานาคที่โน่นที่นี่ บั้งไฟพญานาค เรื่องเล่าของเกจิอาจารย์ที่กล่าวถึงพญานาค จะเป็นเรื่องที่ควรแก่การใส่ใจ เพราะพญานาคถึงจะมี (และถ้าพูดตามหลักที่มีในพระไตรปิฎก ก็ต้องบอกว่ามี) แต่ก็ไม่เห็นว่ามันมีประโยชน์อะไรกับมนุษย์ หรือมีประโยชน์อะไรกับชาวพุทธ ต่อให้พญานาคโผล่หัวมาจากน้ำให้เราเห็นตรงๆ ตัวเป็นๆ ถามว่ามันช่วยให้เราพ้นจากความทุกข์ พ้นจากความเกิดแก่เจ็บตายได้ไหม? ก็พ้นไม่ได้ หรือว่าพญานาคจะมาช่วยดลบันดาลให้เรามีความสุขความเจริญร่มเย็นเป็นสุข อย่างที่ต้องมีการจัดทัวร์ไหว้พญานาค เที่ยวชมเที่ยวดูบั้งไฟพญานาค ซึ่ีงมันคืออะไรก็ไม่รู้ แล้วก็ไปไหว้ไปกราบกัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ก็น่าแปลกว่า เรากำลังนับถือศาสนาอะไร?
ถ้าเราบอกว่า "ข้าพเจ้าเป็นชาวพุทธ" เราบอกว่า "ข้าพเจ้านับถือพระรัตนตรัย" เราเปล่งคำว่า "พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ" แต่เราไม่เคยรู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นใคร ไม่รู้ว่าพระองค์สั่งสอนอะไร ไม่รู้หนทางปฏิบัติเพื่อที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ โดยที่มีพยานยืนยันคำสอนของพระองค์คือพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เรากลับไปไหว้อะไรก็ไม่รู้ ไหว้พญานาค ไหว้พญาครุฑ ไหว้อะไรแปลกๆ ประหลาดๆ.. ไหว้โน่นไหว้นี่ จะเรียกว่าเรา "นับถือพระพุทธศาสนา" ได้จริงๆ หรือ? หรือเราอาจจะต้องเพิ่มคำขอถึงเป็นที่พึ่งเสริมนอกจากพุทธัง ธัมมัง สังฆัง เป็น นาคัง (นาค) เทวัง (เทวดา) เปตัง (เปรต) ปัพพตัง (ภูเขา) รุกขัง (ต้นไม้) วัมมิกัง (จอมปลวก) และอีกสารพัดสิ่งที่กราบไหว้กัน จนไม่รู้ว่า เรานับถืออะไร
ถ้าเราบอกว่าเรานับถือพระรัตนตรัย นั่นหมายความว่า เราจะไม่ไหว้สิ่งอื่น ไม่เคารพสิ่งอื่น นอกจากผู้ที่ควรบูชา เช่นบิดามารดา ผู้มีพระคุณ และพระรัตนตรัย แต่ถ้าเราเพิ่มจำนวนสิ่งที่นับถือกราบไหว้อ้อนวอนมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีที่สิ้นสุด จนถึงขนาดไหว้บ่อน้ำส้วม, เจลลดไข้, เจลดูดน้ำที่บอกว่าเป็นไข่พญานาค (อันนี้สงสัยเป็นพิเศษว่าต่อให้เป็นไข่พญานาคจริงแล้วมันมีอะไรน่านับถือ? เอามาตั้งไว้แล้วมันจะฟักเป็นพญานาคตัวเป็นๆ หรืออย่างไรก็กังขาอยู่) อย่างที่เคยเป็นข่าวมาเป็นลำดับแต่ละเดือนแต่ละปีที่เห็นๆ กันอยู่ เราก็คงไม่ได้นับถื่อพระพุทธศาสนา แต่เรากำลังนับถือ "ทุกๆ อย่าง" มีศัพท์ที่เกี่ยวกับประเภทศาสนา อยู่สองศัพท์ คือ
๑. เทวนิยม คือผู้เชื่อว่ามีพระเจ้าดลบันดาลและคอยควบคุมดูแลความเป็นไปต่างๆนานา และกำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์
๒. อเทวนิยม คือ ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าอยู่จริง และไม่เชื่อว่ามีใครดลบันดาลและควบคุมดูแลความเป็นไปต่างๆ นานา ทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยตามกฏธรรมชาติ
แต่สำหรับคนไทย บางท่าน บางกลุ่ม บางพวกนี่ หรือหลายพวก หลายท่าน อาตมาดูแล้ว น่าจะเรียกว่า ไม่อยู่ในข่ายทั้งเทวนิยม และอเทวนิยม แต่ควรเรียกว่า "สัพพัตถนิยม" (Everyism) คือเชื่อหมดทุกอย่าง...และไหว้หมดทุกอย่าง ไม่น่าจะเรียกว่า "Buddhism" นับถือพระพุทธศาสนา
ที่มาโดย admin ภิกขุวีระวังสะ http://www.facebook.com/Buddhistword
ข้อความเมื่อ 13 ตุลาคม 2556
No comments:
Post a Comment
Give a comment ...