19 July 2013

โทริโน สเกล (Torino Scale) มาตรวัดเฉพาะวันดับโลก

ในการวัดค่าความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่มีบนโลกเรา หลายๆคนก็จะรู้จักกับการวัดค่าความรุนแรงของแผ่นดินไหว ในหน่วยของ ริคเตอร์ (Richter Scale), วัดความรุนแรงของพายุ ที่ระบุหน่วยเป็นความเร็วลม, วัดความรุนแรงของทอร์นาโด เป็น Fajita Scale (F-Scale)

ชูเมคเกอร์ เลวิ 9
ชิ้นส่วนของดาวหางชูเมคเกอร์ เลวิ 9 ก่อนชนดาวพฤหัสเมื่อปี 1994
Credits NASA, ESA, and H. Weaver and E. Smith (STScI)
อีกหนึ่งหน่วยวัดที่ไม่ค่อยได้ยินกันคือ Torino Scale ซึ่งหน่วยวัดนี้ใช้เพื่อวัดความรุนแรงจากผลกระทบจากภัยพิบัติจากการชนของเทหวัตถุจากนอกโลกโดยเฉพาะ ในการอ่านเป็นภาษาไทยออกเสียงอย่างไรยังไม่แน่ใจ แต่ถ้าสะกดเพื่ออ่านในภาษาอังกฤษ น่าจะออกเสียงว่า "โท-รี-โน่" หรือถ้ามีออกเสียงก็จะเป็น "โท-รี้-โน่" เอาเป็นว่าเขียนเป็น หน่วยวัด โทริโน ละกัน

เพราะในช่วงหลังปี 1990 ที่การพัฒนาด้านอุปกรณ์ที่สามารถถ่ายภาพเทหวัตถุที่มีขนาดเล็ก หรืออุกกาบาตได้ดีขึ้น เราพบว่าในแต่ละปี มีการค้นพบอุกกาบาตใหม่อยู่ประมาณ 100 - 200 ดวง และการพัฒนาอุปกรณ์การตรวจจับอย่างต่อเนื่องทำให้เราได้เจออุกกาบาตมากขึ้นไปอีก ด้วยปริมาณอุกกาบาตที่โคจรมาใกล้โลกในปัจจุบัน โครงการ Near Earth Object ของ NASA มีการทำทะเบียนรายการอุกกาบาตใกล้โลกมากกว่า 9,000 รายการที่ได้บันทึกไว้ (Note: 9,803 รายการ วันที่ 4 พฤษภาคม 2013) นั่นหมายถึงโลกเราก็สุ่มเสี่ยงต่อการชนจากอุกกาบาตได้อยู่เรื่อยๆ

โทรีโน สเกล เป็นการอธิบายอย่างง่าย ถึงความรุนแรงของการชนจากวัตถุนอกโลก แบ่งเป็น 11 ระดับ โดยมีสีแสดงระดับความรุนแรง 5 สี ดังต่อไปนี้

1) โซนสีขาว ไม่มีผลกระทบเลย
รุนแรงระดับ 0) วัถุจากนอกโลกที่มีโอกาสการชนเท่ากับ 0 หรือ ไม่มีโอกาสชนเลย ซึ่งเกณฑ์นี้จะถูกใช้กับวัตถุขนาดเล็กที่จะถูกเผาไหม้ในบรรยากาศจนหมด หรืออุกกาบาตที่ตกลงมาแล้วแต่ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อสิ่งใดบนโลก

2) โซนสีเขียว มีผลกระทบปกติ
รุนแรงระดับ 1) การตรวจสอบปกติต่อวัตถุที่มีความเสี่ยงใหม่ต่อการชนโลก มีการประเมินแล้วว่าไม่สร้างความเสียหายหรือเกิดอันตรายใดๆ การพุ่งชนที่จะเกิดขึ้นจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศต่อสาธารณะ และการสำรวจแบบละเอียดผ่านกล้องโทรทัศน์เกือบทั้งหมดของวัตถุที่ถูกจัดระดับในเกณฑ์นี้ มีโอกาสสูงมากที่จะถูกปรับไปอยู่ในระดับ 0

3) โซนสีเหลือง มีโอกาสเกิดผลกระทบ
รุนแรงระดับ 2) การตรวจพบที่มีความจำเป็นต้องสร้างตารางการตรวจสอบซ้ำ วัตถุนี้มีแนวโน้มเข้ามาใกล้แต่ไม่ชนโลก ควรได้รับความเอาใจใสจากนักดาราศาสตร์ แต่ไม่จำเป็นต้องประกาศสู่สาธารณะ การสำรวจแบบละเอียดผ่านกล้องโทรทัศน์ มีโอกาสสูงมากที่จะถูกปรับไปอยู่ในระดับ 0

รุนแรงระดับ 3) การเข้าใกล้หรือเฉี่ยวโลก หรือมีโอกาสการชนมากกว่า 1% ที่สามารถก่อให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ขนาดเล็กได้ มีความจำเป็นต้องแจ้งต่อสาธาณะในพื้นที่เสี่ยงหากคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นหรือมีโอกาสเกิดภายใน 10 ปี การสำรวจแบบละเอียดผ่านกล้องโทรทัศน์เกือบทั้งหมดของวัตถุที่ถูกจัดระดับในเกณฑ์นี้ มีโอกาสสูงที่จะถูกปรับไปอยู่ในระดับ 0

รุนแรงระดับ 4) การเข้าใกล้หรือเฉี่ยวโลก หรือมีโอกาสการชนมากกว่า 1% ที่สามารถก่อให้เกิดความเสียหายในพื้นที่มีขนาดของเมืองใหญ่หรือภูมิภาคได้ มีความจำเป็นต้องแจ้งต่อสาธาณะในพื้นที่เสี่ยงหากคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นภายใน 10 ปี การสำรวจแบบละเอียดผ่านกล้องโทรทัศน์เกือบทั้งหมดของวัตถุที่ถูกจัดระดับในเกณฑ์นี้ มีโอกาสที่จะถูกปรับไปอยู่ในระดับ 0

4) โซนสีส้ม มีโอกาสเป็นภัยคุกคาม
รุนแรงระดับ 5) การเฉี่ยวโลกหรือมีโอกาสชนโลก ที่มีโอกาสก่อให้เกิดความเสียหายในพื้นที่มีขนาดภูมิภาค มีความจำเป็นอย่างสูงที่จะต้องประเมินโดยนักดาราศาสตร์เพื่อสรุปโอกาสและพื้นที่การชนโลกอย่างต่อเนื่อง โดยมีโอกาสเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 10 ปี รัฐบาลหรือหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่ที่มีโอกาสเกิดผลกระทบจะต้องได้รับการเตือนภัย

รุนแรงระดับ 6) การเฉี่ยวโลกหรือมีโอกาสชนโลกของวัตถุขนาดใหญ่ ที่มีโอกาสก่อให้เกิดความเสียหายต่อบรรยากาศโลก มีความจำเป็นอย่างสูงที่จะต้องประเมินโดยนักดาราศาสตร์เพื่อสรุปโอกาสและพื้นที่การชนโลกอย่างต่อเนื่อง มีระยะเวลาในการเกิดภายใน 30 ปี รัฐบาลประเทศที่จะมีโอกาสเกิดผลกระทบจะต้องได้รับการเตือนภัย

รุนแรงระดับ 7) การเฉี่ยวหรือชนโลกหรือมีโอกาสสูงมากของการชนโลกของวัตถุขนาดใหญ่ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบรรยากาศโลก โดยจะเกิดภายในระยะเวลา 100 ปี รัฐบาลในระดับนานาชาติจะต้องได้รับการเตือนภัย และตรวจสอบข้อสรุปการพุ่งชนอย่างเร่งด่วน

5) โซนสีแดง เกิดการชนโลก
รุนแรงระดับ 8) การชนโลกที่ยืนยันการเกิดขึ้นแน่นอน ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในวงจำกัด หรือมีโอกาสเกิดซึนามิในพื้นที่ชายฝั่งทะเลหากตกลงในมหาสมุทร คาดไว้ว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกๆ 50 ปี - 100 ปี

รุนแรงระดับ 9) การชนโลกที่ยืนยันการเกิดขึ้นแน่นอน ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในวงกว้างในระดับเมืองหรือภูมิภาค หรือมีโอกาสเกิดซึนามิขนาดใหญ่หากตกในมหาสมุทร  คาดไว้ว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกๆ 10,000 - 100,000 ปี

รุนแรงระดับ 10) การชนโลกที่ยืนยันการเกิดขึ้นแน่นอน ที่ส่งผลกระทบต่อเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดการสูญพันธุ์และการล่มสลายของความก้าวหน้าทั้งปวง ไม่ว่าจะเทหวัตถุตกกระทบแผ่นดินหรือมหาสมุทรก็ตาม คาดไว้ว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกๆ 100,000 ปี หรือนานกว่านั้นในการเกิดแต่ละครั้ง

การจัดระดับความรุนแรง จะใช้ความรุนแรงของโอกาสที่จะเกิดการระเบิดในหน่วยของ Mega Tons (MT) ได้ โดยการทราบขนาดของอุกกาบาต
โทรีโน สเกล
Torino Scale
จากตารางคือ อุกกาบาตขนาด 20m จะมีความแรงเมื่อชนโลก 1 MT, ขนาด 100m มีความรุนแรง 100,000 MT ในระหว่างที่ระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมามีความรุนแรง 0.018 MT

Fast Fact
  • อุกกาบาตที่ตรวจพบทั้งหมดในปัจจุบัน (ปี 2013) มีบางส่วนมีสถานะความรุนแรงสูงสุดที่ระดับ 1 และส่วนใหญ่เป็น 0
  • การตรวจพบอุกกาบาตที่มีการจัดระดับความรุนแรงมากที่สุดที่เคยทำมา มีเพียงแค่ระดับ 4 
  • อุกกาบาตที่ชนโลกและล้างเผ่าพันธ์ไดโนเสาร์ เมื่อนำมาประเมินกับระดับของ โทรีโนแล้ว มีความรุนแรงระดับ 10
  • เหตุการณ์อุกกาบาตชนโลก ที่  Tunguska ในปี 1908 ประเมินกับระดับของ โทรีโนแล้ว มีความรุนแรงระดับ 8
แม้ว่า Torino Scale ไม่ได้ถูกอ้างถึงในภาพยนตร์ที่มีดาวหางหรือดาวตกชนโลก เพราะคนดูอาจจะนึกไม่ออกว่าโทริโนคืออะไรเดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องเข้าใจยาก และโอกาสเกิดเหตุการณ์แบบนี้มีน้อยมากซึ่งเราอาจจะไม่ได้เจอเลยในช่วงชีวิต เพราะโลกความเป็นจริงก็ไม่อยากให้มีอุกกาบาตใหญ่ๆมาชนโลกหรอกนะ ดังนั้นการวางแผนรับมือกับภัยภิบัติที่เหมาะสมจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะเวลานั้นๆ ถ้าจะให้ดีก็เริ่มจากเหตุใกล้ตัวก่อน เช่น น้ำท่วม, ไฟป่า, แผ่นดินไหว ซึ่งการจัดการและบริหารให้มีประสิทธิภาพให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินน้อยที่สุดก็ถือว่าดีเพียงพอแล้ว

Written by Tiwakorn Laophulsuk

No comments:

Post a Comment

Give a comment ...