บทความคัดลอกจาก สมาคมลูกเรือไทย
จากเหตุการณ์เครื่องบินเอเชียน่าตกที่ซานฟรานซิสโกที่ผ่านมา…
- เครื่องบินตก หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ในเที่ยวบินของท่าน
- ท่านทราบหรือไม่ว่า Take off และ Landing เป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด เรียกว่า Critical 11 Minutes (3 นาทีในระหว่างการนำเครื่องขึ้น และ 8 นาทีในระหว่างการนำเครื่องลง)
- เหตุฉุกเฉิน ไม่ได้มีแค่ “เหตุการณ์ฉุกเฉินที่รู้ล่วงหน้า” หรือ Planned Emergency และสามารถเตรียมความพร้อมให้ผู้โดยสารก่อนเครื่องลงฉุกเฉินได้ แต่ยังมี Unplanned Emergency ที่เราไม่ได้คาดคิด และไม่มีเวลาเตรียมตัวอีกด้วย
- ด้วยสาเหตุที่เราต้องมีการเตรียมตัวสำหรับ Unplanned Emergency ในทุกๆครั้งก่อนการนำเครื่องขึ้นและลง เราจึงต้องขอความร่วมมือให้ท่านผู้โดยสาร รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับพนักที่นั่งให้อยู่ในระดับตรง เก็บโต๊ะหน้าที่นั่ง เปิดม่านหน้าต่าง เก็บกระเป๋าของท่านไว้บนที่เก็บของ หรือใต้ที่นั่งด้านหน้า แทนการวางไว้บนตัก (อย่างที่ท่านๆชอบทำกัน) และ ปิดโทรศัพท์ และ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด
ทำไมนั่นเหรอคะ...นั่นก็เป็นเพราะ
- “การรัดเข็มขัดนิรภัย” จะทำให้ตัวท่านไม่เลื่อนไหลลงไปกองที่พื้น เนื่องจากแรงกระแทกตอนเครื่องแตะพื้น ลองคิดดูว่า หากท่านอยู่บนเที่ยวบินที่ตกนี้ แล้วท่านไม่รัดเข็มขัด หรือ รัดไม่แน่น ตัวท่านก็จะไหลลงไปกองที่พื้น กระแทกขาเก้าอี้ของคนด้านหน้า หน้าฟาดไปที่กระเป๋าที่นั่งด้านหน้า และเมื่อเครื่องบินจอดสนิท ก็จะมีแรงเหวี่ยงตัวท่านกลับมาด้านหลัง ที่เรียกกันว่า “Second Impact” ซึ่งอาจทำให้หลังของท่านหัก และก่อนที่ท่านจะตะเกียกตะกายลุกขึ้นมาที่เก้าอี้ ท่านก็อาจจะถูกคนด้านข้างปีน เหยียบตัวท่านหนีตายออกไป ในช่วงเวลาที่ทุกคนต่างพยายามเอาตัวรอด
- “การเก็บโต๊ะหน้าที่นั่ง” จะทำให้ตัวท่านไม่อัดกระแทกเข้าไปกับโต๊ะด้านหน้า ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับชีวิตของท่าน และนอกจากนั้นยังช่วยให้ท่านมีพื้นที่ในการหนีออกมาจากที่นั่งของท่านได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
- “การปรับพนักเก้าอี้ให้อยู่ในระดับตรง” ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้โดยสารด้านหลังมีพื้นที่ในการหนีเช่นของท่านแล้ว การนั่งหลังตรง ก็เป็นท่าเตรียมพร้อมหากเกิดอะไรขึ้นเช่นกัน
- “การเก็บกระเป๋าของท่านให้เข้าที่ในช่วงเวลานำเครื่องขึ้นและลง” อาจจะทำให้ท่านออกจากเครื่องได้ช้าลง หรือแทรกตัวกับผู้โดยสารท่านอื่นได้ช้าลงไปอีก 1 นาที แต่หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาจริงๆ กระเป๋าที่ท่านกอดไว้ จุดนั้นมันจะไม่รักดีอยู่บนตักท่านหรอกค่ะ มันจะกระจัดกระจาย ลอยละล่องไปในอากาศ และตกลงบนศีรษะของท่าน หรือผู้โดยสารข้างเคียง ซึ่งทำให้เกิดอาการบาดเจ็บและเป็นเหตุให้ตัวท่านเองหรือผู้โดยสารท่านอื่นถึงแก่ชีวิตได้ อีกทั้งกระเป๋าของท่านยังกีดขวางเส้นทางการหนีของท่านอีกด้วย คราวนี้คงได้มีคนสะดุดล้ม ซึ่งคงไม่ต้องบรรยายต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่สะดุดกระเป๋าท่าน
- “การเปิดม่านหน้าต่าง” ใช่ค่ะ มันไม่ได้มีผลอะไรกับแรงกระแทก ไม่ได้ทำอะไรให้ท่านบาดเจ็บ หรือกีดขวางทางหนีของท่าน แต่การเปิดม่านหน้าต่าง นอกจะท่านจะได้ชมวิวสวยๆแล้ว ท่านยังเป็นหูเป็นตา ช่วยลูกเรือสอดส่องดูภายนอกได้ว่า มีอะไรผิดปกติหรือเปล่า เราไม่เถียงค่ะว่าท่านไม่ใช่ช่าง จะรู้ได้ไงว่ามันปกติหรือผิดปกติ แต่ถ้ามันถึงขั้นเครื่องยนต์ไฟไหม้ ท่านก็ไม่น่าจะคิดว่าปกติจริงมั้ยคะ บนเครื่องมีผู้โดยสารเป็นร้อย แต่มีลูกเรือแค่หลักสิบ ช่วยกันดูเถอะค่ะ อย่างน้อยก็ได้ดูวิวสวยๆนะคะ
- "การปิดไฟห้องโดยสาร" (รวมถึงการเปิดม่านหน้าต่าง) ช่วยให้ผู้โดยสารปรับสภาพสายตาให้มีสภาพเดียวกับสภาพแวดล้อมภายนอก โดยเฉพาะตอนร่อนลงและบินขึ้นตอนกลางคืน หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ก็จะช่วยลดเวลาที่ต้องใช้ในการปรับสายตาและหนีภัยค่ะ
- และสุดท้าย “การปิดโทรศัพท์” และ “อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” จากเหตุการณ์นี้น่าจะทำให้ท่านตระหนักถึงความจำเป็นของระบบสื่อสาร ระบบนำร่อง และระบบอื่นๆของเครื่องบินแล้วนะคะ ว่ามันจำเป็นมากขนาดไหน แน่นอนว่านักบินมีชั่วโมงบิน ประสบการณ์ และเก่งกันทุกคน แต่จะดีกว่ามั้ยคะ ถ้าจะไม่มีอะไรไปกวนระบบเหล่านั้นเลยในระหว่างการนำเครื่องขึ้น และลง
“หน้าที่หลัก” ของเราคือ การพาท่านผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางของท่านอย่างปลอดภัย การเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มนั้นเป็นเพียง “หน้าที่รอง” ที่จะทำให้การเดินทางของท่านสะดวกสบายตลอดการเดินทางเท่านั้น ดังนั้นเราจึงขอความกรุณาท่านผู้โดยสารทุกท่าน เข้าใจและปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับการบินที่ลูกเรืออย่างเราขอความร่วมมือด้วยนะคะ
Article Credits
- แมงปอ อดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสายการบิน Japan Airlines และ หัวหน้าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสายการบิน Thai Smile ในปัจจุบัน
- Parawan Khamkosit
No comments:
Post a Comment
Give a comment ...