03 April 2013

The Digital Government

ในวันที่ 23 สิงหาคม 2011 ผู้คนในเมืองนิวยอร์คได้อ่าน Twitter ที่มีข้อความว่าเกิดแผ่นดินไหวในรัฐเวอร์จิเนีย ก่อนที่ตนเองจะรู้สึกถึงแผ่นดินไหวถึง 30 วินาที โดยทั้งสองสถานที่มีระยะทางห่างกันถึง 670 กิโลเมตร เหตุการณ์นี้เป็นตัวชี้วัดว่าความเร็วของสื่ออินเตอร์เน็ตมีประสิทธิภาพในด้านความเร็วมีมากเพียงใด จนถึงทุกวันนี้ โลกแห่งการสื่อสารบนโลกของอินเตอร์เน็ตได้พัฒนาต่อไปมากขึ้น และมีผู้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ในเชิงวิสัยทัศน์ ประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ได้วางกรอบของการพัฒนารูปแบบการสื่อสารของรัฐ ผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งกรอบแนวคิดนี้ได้นำไปสู่แนวคิดของการพัฒนา e-Government และได้ปรับปรุงจนนำไปสู่ Digital Government ซึ่งในความหมายของคำจำกัด ได้มีการตีความไว้ ดังนี้

"e-Government คือ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ, การสื่อสารผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ, และการแสดงข้อมูลผ่านการสื่อสารทางเว็บ เพื่อปรับปรุงหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารต่อสาธารณะ"
--Jeong, 2007
"Digital Government คือ การใช้สื่ออินเตอร์เน็ต และเว็บในการสื่อสารข้อมูลและการบริการของรัฐสู่ประชาชน" -- United Nations, 2006; AOEMA, 2005
จากคำจำกัดความของ e-Government และ Digital Government จะสามารถมองได้ว่าแนวคิดที่รัฐต้องการสื่อสารกับประชาชนผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตนั้น คำว่า "Digital Government" สามารถแสดงความหมายและครอบคลุมได้ชัดเจน และด้วยการเปลี่ยนแปลงนี้ สหรัฐฯ ได้วางแนวทาง และได้ประกาศใช้รูปแบบการนำเสนอในชื่อ “รัฐบาลดิจิตอล” เพื่อที่จะให้บริการและสื่อสารกับประชาชนให้มีคุณภาพชิวิตที่ดีขึ้น
USA Digital Government Master Plan

ด้วยปัญหาที่เหมือนกันจากการพัฒนาระบบสารสนเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐที่มีการใช้ IT ในการพัฒนาระบบสารสนเทศของตนเองต่างมีการออกแบบที่เป็นแนวทางเฉพาะ และนำเสนอในรูปแบบที่ตนเห็นว่าเหมาะสม บางหน่วยงานมีการจัดทำเป็นเว็บไซต์ หรือไม่ก็พัฒนาไปนำเสนอเฉพาะในทางอุปกรณ์พกพา ซึ่งส่งผลให้การนำเสนอต่อประชาชนมีรูปแบบที่หลากหลาย ไม่มีความแน่นอน อีกทั้งเกิดความซ้ำซ้อนในรูปแบบงานและข้อมูลการนำเสนอ แต่ด้วยปัญหาทั้งหมดได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนากลยุทธในมิติของ Digital Government ได้

วัตถุประสงค์ของ Digital Government ของสหรัฐฯ คือ
1) การให้ประชาชนชาวอเมริกา สามารถใช้อุปกรณ์พกพาในการเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้ทุกที่, ทุกเวลา, และทุกรูปแบบของอุปกรณ์ อย่างมีคุณภาพ
2) รัฐบาลจะปรับเข้าสู่การทำงานในรูปแบบ Digital ที่เพิ่มโอกาสการบริหารจัดการสารสนเทศต่างๆ อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตั้งแต่คราวแรกที่ทำการออกแบบ
3) การกระจายข้อมูลสารสนเทศของรัฐสู่ประชาชนในเชิงกว้าง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพโดยเท่าเทียมกัน

ภาพรวมของการให้บริการ Digital Government การออกแบบระบบการให้บริการ จะถูกมองเป็นระดับชั้นต่างๆ คือ
1) Information Layer ซึ่งเป็นการรวบรวมในระดับข้อมูล ซึ่งอาจจะยังไม่ได้จัดแบ่งโครงสร้าง หรืออยู่ในรูปแบบเอกสารต่างๆ
2) Platform Layer การออกแบบและจัดการระบบการให้บริการดิจิตอล เช่น ระบบ API, การพัฒนาระบบ, การจัดการด้านสารสนเทศต่างๆ
3) Presentation Layer คือ ส่วนการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศที่มีการจัดรูปแบบแล้ว ผ่านระบบการจัดการด้วยการออกแบบด้วยการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ เพื่อให้รองรับการนำเสนอข้อมูลในสื่อการนำเสนอที่แตกต่างกัน เช่น เว็บไซต์, อุปกรณ์พกพา, หรือสื่อการนำเสนออื่นๆ ที่สามารถเผยแพร่สู่ประชาชนได้
Digital Government

 หลักการของการนำเสนอและการใช้สารสนเทศจะแบ่งออกเป็น 4 มิติคือ
  1. ข้อมูลเป็นศูนย์กลาง (Information Centric) คือการบริหารชุดหรือกลุ่มของข้อมูลให้สะดวกต่อการอ้างอิง, การแบ่งปัน, และจัดกลุ่มรวบรวมเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้งาน
  2. อยู่บนพื้นฐานของการแบ่งปัน คือ ระบบสารสนเทศต้องพร้อมที่จะให้หน่วยงานต่างๆ สามารถทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายในการทำงาน, ลดความซ้ำซ้อน, การจัดข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน
  3. ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ออกแบบให้ผู้ใช้สนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมการใช้งานข้อมูล หรือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาครัฐ ตามที่ต้องการ
  4. อยู่บนพื้นฐานของความมั่นคงปลอดภัย เพื่อที่จะให้มั่นใจได้ว่า ข้อมูลถูกนำไปใช้อย่างถูกต้องอย่างปลอดภัย ไม่มีการดัดแปลงแก้ไขหรือทำให้ข้อมูลถูกทำลายไป
ความแตกต่างของแนวคิดเมื่อเทียบกับประเทศไทยการเปลี่ยนแปลงแนวคิดจากความเป็นรัฐบาลอิเลคทรอนิคส์ (e-Government) ไปเป็น รัฐบาลดิจิตอล (Digital Government) ของสหรัฐ เป็นการให้ความสำคัญของการออกแบบบริการที่อยู่ภายใต้เทคโนโลยีใหม่เพื่อบริการประชาชนให้ครอบคลุมมากขึ้น แต่ในประเทศไทย การเป็นรัฐบาลอิเลคทรอนิคส์ มีความสำคัญในมิติของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบการทำงานในหน่วยงานราชการเองเสียก่อน เพื่อที่จะรองรับและเตรียมความพร้อมกับการให้บริการสารสนเทศให้กับประชาชนในอนาคต ซึ่งในข้อสรุปว่า ณ วันนี้ ความสำคัญของการก้าวเข้าไปสู่รัฐบาลดิจิตอล ต้องอยู่บนแนวคิดที่ประกอบด้วยความพร้อม, การตอบสนองความต้องการที่เหมาะสม ภายใต้สภาวะแวดล้อมของประเทศขณะนั้น จึงเป็นแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมที่สุด

Credit จาก Homework ที่ทำส่งการบ้าน เห็นว่าเป็นภาพรวมดีเลยเอามาแปะไว้

Written by Tiwakorn Laophulsuk
13-Jul-2012