18 August 2015

แรกเริ่มเรียนรู้ เช็คธนาคาร

อ่านข่าวหนังสือพิมพ์สีเขียวเล่มหนึ่งที่มีข่าวว่าเจ้าของร้านทองโดนเอาทองไปแล้วโดยที่คนร้ายจ่ายค่าทองด้วยเช็ค และสุดท้ายเอาไปขึ้นเงินไม่ได้เพราะเช็คเด้ง ตามข่าวเจ้าของร้านก็มืดแปดด้านเพราะไม่รู้จะแก้ยังไงต่อ และบ้างก็ว่าธนาคารทำไมถึงไม่ช่วยเจ้าของร้านในการตรวจสอบบ้าง พออ่านไปโดยละเอียดก็เลยตระหนักได้ว่าจริงๆแล้ว ปัญหาอยู่ที่ผู้ใช้เช็ค กับข้อตกลงในการขายสินค้าซะมากกว่าที่ไม่เข้าใจว่าหลักการของการทำธุรกรรมด้วยวิธีนี้คืออะไร

เช็ค หรือตราสารเช็คเป็นเอกสารประเภทหนึ่งที่เป็นไปตามข้อกำหนด พรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เพื่อใช้ชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย

ประโยชน์ของการใช้เช็ค ก็มีข้อดีเหมือนการโอนเงินผ่านธนาคารนั่นแหละ คือการชำระหรือการโยกย้ายเงินจำนวนมากจะมีความปลอดภัยมาก และไม่เสี่ยงต่อความเสียหายต่อปัจจัยภายนอก เช่น โดนปล้น, ทำเงินหาย, เอกสารถูกไฟไหม้ สำหรับคนที่มีธุรกรรมเกี่ยวกับเงินสดจำนวนมากๆ อาจจะ 5 แสนบาทขึ้นไป ควรศึกษาการใช้ประโยชน์จากตราสารประเภทนี้ให้มากทั้งการเป็นผู้รับ หรือเป็นผู้ใช้งานก็ตาม

เพื่อความรวดเร็วแบบย่นย่อ และเหมาะกับคนใช้งาน เช็คแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ

1) เช็คสั่งจ่าย
เป็นเช็คของบริษัท หรือจากผู้ประกอบธุรกิจ การจะได้เงินจากเช็คนี้เจ้าของเช็คจะต้องมีเงินเพียงพอในการจ่าย หากมีเงินไม่พอ เช็คประเภทนี้ก็จะเกิดสภาวะ "เช็คเด้ง" ซึ่งธนาคารจะเรียกให้เราไปรับเอกสารคืนพร้อมข้อมูลว่าตัดเช็คไม่ได้ เอาไปฟ้องร้องกันต่อ

สำหรับใครที่อยากมีเช็คสั่งจ่าย ต้องทำตัวเองให้เป็นผู้ประกอบการโดยมีทะเบียนพานิชย์ หรือ ห้างหุ้นส่วนฯ หรือ บริษัทฯ จากนั้นหอบเอกสารทะเบียนบริษัทฯต่างๆไปธนาคารพร้อมพูดว่า "ขอเปิดบัญชีเช็ค" และก็ทำตามพิธีการอีกร้อยแปด ก็จะได้สมุดเช็คมาใช้งานเชิ้บๆ


เช็คประเภทนี้ ดูง่ายๆคือ ตัวเช็คจะมีชื่อบริษัท (ที่ไม่ใช่ชื่อธนาคาร) กำกับอยู่ จะเป็นตัวเขียนลายมือหรือตัวพิมพ์ก็ถือว่าเป็นเช็คสั่งจ่าย

2) เช็คเงินสด หรือ แคชเชียร์เช็ค
เป็นเช็คของธนาคาร โดยไม่มีชื่อบริษัทอื่นใด และจะถูกออกให้โดยธนาคาร เช็คประเภทนี้ปลอดภัยมากเพราะมีเงินจ่ายแน่นอน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของเกินก้อนหนึ่งแล้วไปแลกเป็นเช็คออกมา


ใครอยากได้เช็คเงินสด โดยจะเป็นเป็นใครก็ได้ โดยเดินไปธนาคารบอกว่า "ขอซื้อแคชเชียร์เช็ค" จากนั้นก็บอกจำนวนเงินที่อยากซื้อ บอกชื่อบัญชีผู้รับเงิน บวกค่าเช็ค 20 บาท

แคชเชียร์เช็คข้ามเขต เป็นการทำเช็คอีกแบบนึง โดยภาษาธนาคารจะเรียกว่า Draft เอาเป็นว่าถ้าข้ามเขตธนาคารเวลาจะซื้อแคชเชียร์เช็คก็ควรแจ้งธนาคารด้วยว่าเราจะส่งไปขึ้นเงินที่ไหน

3) เช็คของขวัญ
เป็นเช็คเงินสดกรณีเดียวกับข้อ 2) แต่มีเงื่อนไขบางอย่างจากธนาคาร เช่น จำกัดจำนวนวงเงินในการซื้อเช็ค อาจจะสูงสุดแค่ไม่เกิน 50,000 บาท หรืออาจจะมีของแจกของแถมเพิ่มเติมในการออกเช็ค ส่วนใหญ่ไม่ได้เอามาค้าขายกัน เพราะคงไม่มีใครซื้อเช็คของขวัญแล้วระบุชื่อผู้รับเป็นชื่อบริษัทซักเท่าไหร่

สรุปแล้วผู้ประกอบกิจการต้องมีกลไกการตรวจสอบเรื่องเช็คให้เป็นปกติ หากเป็นเช็คสั่งจ่ายควรขอคำยืนยันด้วยหนังสือรับรองบริษัท หรือโทรสอบถามธนาคารต้นทางของเช็คก็ได้ หรือรับชำระด้วยเช็คเงินสดจะเป็นการดีที่สุด

Written by Tiwakorn Laophulsuk

No comments:

Post a Comment

Give a comment ...