14 July 2015

กล้องฝ่าไฟแดงกรุงเทพ ทำงานยังไง

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาคน กทม. ที่คุ้ยเคยกับการฝ่าไฟแดงน่าจะมีความระมัดระวังตัวมากขึ้น เพราะงานจราจรของกรมตำรวจได้มีโครงการติดตั้งกล้องจับผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟที่ถูกติดตั้งไว้ตามสี่แยกต่างๆ หรือเรียกว่ากล้องฝ่าไฟแดง หลายคนก็เคยโดนจดหมายถ่ายรูปส่งมาให้เสียค่าปรับ บ้างก็เสียค่าปรับ บ้างก็เอามาแชร์บน Social Media ว่าไม่ต้องเสียก็ได้ เพราะระบบไม่ได้เชื่อมกับงานต่อทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก แต่ก็อย่างว่าแหละ การฝ่าไฟแดงเป็นความเสี่ยงของตัวผู้ขับขี่เองขณะนั้นอยู่แล้ว เกิดเหตุขึ้นมาจริงๆคนที่ฝ่าไฟแดงก็ต้องแพ้ในศาลอยู่ดี

การให้ความรู้ของการทำงานของกล้อง ไม่ได้มีเจตนาจะให้หลบเลี่ยง แต่เพียงให้ความรู้ว่าหลักการทำงานเป็นอย่างไร เผื่อคราวหลังจะได้ระมัดระวังตัว ซึ่งระบบที่ติดตั้งในไทยไม่ได้เหมือนของเมืองนอกเท่าไหร่
Red Light Camera Detection Loop [Source: Howstuffwork]
เริ่มที่ต่างประเทศก่อน ระบบการทำงานของกล้องฝ่าไฟแดง ระบบบจะถูกติดตั้งไว้เชื่อมกับสัญญาณไฟจราจร รวมไปถึงการติดตั้ง Detection Loop ซึ่งเป็นวงแหวนที่มีไฟฟ้าเลี้ยง ในการตรวจจับการผ่านของรถยนตร์ที่มีขนาดใหญ่ โดย Loop จะถูกวางไว้บริเวณประมาณก่อนเส้นหยุดรถ กับหลังเส้นหยุดรถ ตัวอุปกรณ์การถ่ายภาพฝ่าไฟแดงจะทำงานก็ต่อเมื่อไฟสัญญาณเป็นไฟแดง และต้องมีรถวิ่งข้ามเส้นหยุดรถไปด้วยความเร็วระดับนึง (ดังนั้นชะลอรถช้าๆ ก็ไม่ถ่าย แต่ก็ขับข้ามแยกไม่ทันหรอก) ระบบก็จะทำการถ่ายภาพ 2-3 ภาพ แล้วแต่เงื่อนไข เพื่อระบุป้ายทะเบียนและลักษณะของรถ ซึ่งระบบการถ่ายภาพจะถ่ายทันทุกคันที่วิ่งฝ่าไฟแดง

แต่ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ลักษณะดังกล่าวไม่ค่อยเหมาะกับเมืองไทย เพราะเรามีรถเล็กอย่างจักรยานยนตร์ และรถยนตร์ รวมไปถึงการติดตั้งอุปกรณ์ Detection Loop ที่ต้องเปิดพื้นผิวการจราจรบริเวณสี่แยกทำให้ไม่สะดวกในการทำในกรุงเทพ เพราะกรุงเทพฯ มีการจราจรแทบจะตลอดเวลาแบบไม่หลับไม่นอน อุปกรณ์กล้องฝ่าไฟแดงในไทยเท่าที่แอบไปสังเกตุมา จึงใช้ระบบ Image Processing ในการตรวจจับเพียงวิธีเดียว

กระบวนการทำงานของกล้องฝ่าไฟแดงของไทย จึงใช้การถ่ายภาพ CCTV ความละเอียดสูง (HD) ติดตั้งไว้ตรงจุดทางร่วมทางแยก ที่กำหนดมุมกล้องแบบคงที่เอาไว้ จากนั้นเพิ่มชุดอุปกรณ์วิเคราะห์ภาพ CCTV โดยทั่วไปจะเรียกกันว่า IVS (Intelligence Video System) หรือบางยี่ห้ออาจจะเรียกว่า CCTV Survielence Analaysis หรือเทือกๆนั้นมาทำการวิเคราะห์ภาพทุก Frame ทุก Shot แบบ real-time โดยแต่ละสี่แยกจะถูกกำหนดขอบเขตการวิเคราะห์ภาพไว้ (Boundary) การตั้งค่าของ IVS จึงทำโดยหลักการว่า เมื่อใดที่มีวัตถุเข้ามาในเขตควบคุมขณะเป็นไฟแดง แล้ววัตถุนั้นเคลื่อนที่ออกไปจากเขตนั้น ก็ถือว่าเป็นการฝ่าไฟแดง
Example of Bangkok Red Light Camera Detection Loop using Image Processing [SVTEC AP]
การใช้ Image Processing ในการตรวจจับ จากภาพกรณีรถวิ่งช่องจราจรที่ขวามากๆนอกเขตสีแดง หรือไฟแดงในกรอบบางสีเหลืองซ้ายและขวาไม่ทำงานพร้อมกัน ระบบจะตรวจจับไม่ได้ [Image Source: SVTEC AP]
ระบบการวิเคราะห์ภาพจึงเป็นการติดตั้งที่ง่ายกว่าโดยไม่ต้องทำเรื่องใดๆเพิ่มอีกบนพื้นผิวการจราจร ซึ่งข้อเสียจะมีแค่บางเรื่อง เช่น การตรวจจับผิดพลาด, อุปกรณ์ประมวลผลทำงานหนักหรือร้อนทำให้เสียบ่อย, ภาพ CCTV ถูกต้นไม้บังก็ทำงานไม่ได้เลย และยิ่งถ้ามีผู้ขยันฝ่าไฟแดงก็จะสามารถรู้ขอบเขตการกำหนดขอบเขตการตรวจจับได้ เช่น ถ้าจะฝ่าไฟแดงก็วิ่งสวนการจราจรออกไปในช่องจราจรตรงข้าม ก็จะหลุดจากการตรวจจับในบางแยกได้ (เพิ่มความอันตรายทั้งฝ่าไฟแดงและสวนเลนในคราวเดียวกัน), การหลบหลีกอีกแบบคือ ในเวลากลางคืนที่ตัวอุปกรณ์กล้องมีความเร็วของการจับภาพ (Speed Shutter) ลดลง การเคลื่อนที่ฝ่าไฟแดงด้วยความเร็วสูงๆ อาจจะจะหลีกเลี่ยงการตรวจจับได้เพราะภาพนิ่ง CCTV ที่ถ่ายได้จะมีลักษณะเคลื่อนไหวจนอ่านป้ายทะเบียนไม่ออก, หรือเลี่ยงโดยการไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนหลังก็อาจจะเป็นเรื่องที่ไว้หลบเลี่ยงได้
Movement direction detection example
Movement direction detection example
Movement Tracking example
Movement Tracking example
แต่อย่างว่า ระบบนี้เหมาะกับเมืองไทยเพราะยานพาหนะขนาดเล็ก เช่น จักรยานยนตร์, หรืออาจจะเล็กลงขนาดคนวิ่งจ็อคกิ้งฝ่าไฟแดงก็สามารถถูกถ่ายภาพได้ทั้งหมด ซึ่งวิธีการใช้ IVS ในการจับภาพฝ่าไฟแดงหากแก้ปัญหาด้วยการ Config ตัวขอบเขตการตรวจจับให้มีประสิทธิภาพ, มีการประมวลผลทิศทางของการวิ่งของยานพาหนะ, และเพิ่มแสงสว่างในช่วงกลางคืนให้มากๆ ก็น่าจะช่วยฝึกนิสัยคน กทม. มักง่ายได้

การปฏิบัติตัวที่ถูกของผู้ขับขี่ก็คือ เคารพสัญญาณไฟทุกเวลา ไม่ว่าจะรถมากหรือน้อย และทำทุกแยกให้เหมือนกับมีกล้องฝ่าไฟแดงนั้นแหละดีที่สุด

Written by Tiwakorn Laophulsuk

No comments:

Post a Comment

Give a comment ...