24 April 2015

เรื่องเล่าจากป๊า: ศรีสะเกษสงครามโลกครั้งที่สอง (ตอนที่ 2:ตอนจบ)

การเดินหน้าของกองทัพญี่ปุ่น ที่ต้องการจะยึด South East Asia ทำให้เกิดการปะทะอย่างต่อเนื่องมาตลอด ในช่วงเวลากลางคืนทหารญี่ปุ่นจะเดินไปตามบ้านต่างๆ เพื่อบังคับให้บ้านแต่ละหลังทำการดับตะเกียง และไม่ให้ทำงานหรือมีกิจกรรมในช่วงกลางคืน โดยคาดกันว่าเพื่อจะหลีกเลี่ยงการบินตรวจการจากฝ่ายอเมริกา ในช่วงดังกล่าวคุณปู่ที่ทำอาชีพรับจ้างเย็บผ้า ต้องทำการเอาผ้าดำมาคลุมแล้วจุดตะเกียงเพื่อรับจ้างนั่งเย็บผ้าต่อในช่วงเวลากลางคืน และต้องหยุดจักรเมื่อมีเสียงทหารกำลังจะผ่านที่บ้าน ทั้งหมดที่ปู่ทำก็เพื่อจะต้องหาเงินเก็บไว้ให้เยอะในช่วงที่อยู่ในภาวะสงครามที่มีเศษรฐกิจขัดสน

ในบางวัน ทหารญี่ปุ่นจะบังคับสั่งให้คนในอำเภอทุกหลังให้ให้เอาแป้งเปียกไปราดบนหลังคา ด้วยความเข้าใจที่ว่าในเวลาที่เครื่องบินของพันธมิตรบินตรวจเป้าหมายในตอนกลางคืน จะมองเห็นเงาสะท้อนของหลังคาที่คล้ายกับน้ำในบึง ซึ่งทหารญี่ปุ่นคงคิดว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นเป้าหมายในพื้นที่นั้นๆ นึกภาพตามก็คงจะงง แต่เอาเป็นว่าชาวบ้านต้องทำแบบนั้นเพราะทหารเขาสั่ง

จากเวลาที่ผ่านไปหลายเดือน เด็กชายลูกของคุณปู่ที่พอรู้เรื่องราวต่างๆ นอกจากคล่องแคล่วในการลงหลุมหลบภัยเมื่อมีเสียงเตือน ก็ชอบไปวิ่งล้อฝรั่งที่ถูกจับเป็นเชลยบนรถไฟ จากความเข้าใจของผู้เขียนเข้าใจว่า รถไฟจะทำการขนเชลยที่จับได้จากเวียดนามค่อยขนถ่ายโดยต้องส่งไปสร้างทางรถไฟที่กาญจนบุรี ในช่วงหนึ่งที่ขบวนรถต้องจอดที่สถานีรถไฟศรีสะเกษเป็นเวลานานเพราะต้องรอเติมน้ำของรถไอน้ำ หรืออาจจะรอการซ่อมทางข้างหน้า ชาวบ้านที่เห็นเชลยฝรั่งแล้วสงสารก็จะเอาแตงโมผ่าครึ่งเป็นสองซีกลูกแล้วโยนขึ้นไปบนรถไฟ แม้ทหารญี่ปุ่นเห็นแบบนั้นก็ไม่ได้ว่าอะไรเพราะการที่นักโทษได้แย่งกันกินแตงโมบ้างก็ดีกว่าปล่อยให้ตายบนรถไฟไปเฉยๆ จึงเป็นเรื่องสนุกของเด็กๆที่ชอบไปวิ่งล้อข้างๆขบวนรถไฟว่า "ฝรั่งหัวแดงกินแตงโม" และก็ตะโกนล้อฝรั่งวนเวียนไปหลายขบวนในช่วงหนึ่ง

ในบางครั้ง ก็มีดลุ่มขบวนการเสรีไทยที่เป็นกลุ่มคนไทยบางส่วนที่ต่อต้านญี่ปุ่นทำการปีนขึ้นไปบนตัวรถไฟขนสินค้าระหว่างที่วิ่งออกจากสถานีศรีสะเกษ แล้วก็ไปถีบเอาสิ่งของบนตัวรถลงมา เมื่อทหารญี่ปุ่นเห็นและรู้ตัวคนที่ไปถีบของก็กระโดดออกจากตัวรถและขบวนรถก็วิ่งข้ามสะพานดำ (สะพานรถไฟที่ข้ามห้วยสำราญ) ไปแล้ว จึงเป็นครั้งแรกๆที่เด็กชายเห็นและคุณปู่ได้เรียกบุคคลเหล่านั้นว่าขบวนการ "ไทยถีบ"

จากความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของการทำสงคราม ความอ่อนแอของกองทัพญี่ปุ่น เกิดขึ้นเพราะการต่อสู้ที่กระจายตัวในพื้นที่ต่างๆมากมาย จนไปถึงการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ กองทัพญี่ปุ่นจึงค่อยๆทยอยถอนกำลังออกไป และความเป็นปกติสุขของจังหวัดก็ค่อยๆทยอยกลับคืนมาหลังปี พ.ศ.2488

ในวันหนึ่งในวงกินข้าว คุณปู่ได้ถามลูกๆทั้ง 5 คนว่าใครคนไหนจะเป็นอัยการ, ทหาร, ข้าราชการ ลูกๆแต่ละคนก็ยกมือเป็นโน่นเป็นนี่กันไป และเมื่อถามถึงว่าใครจะเป็นหมอ มีเด็กชายผู้หนึ่งยกมือและบอกว่า ผมจะไปเป็นหมอครับ ซึ่งเด็กชายซุกซนในวัยนั้นในภายหลังคือคุณพ่อของผู้เขียน นพ.เฉลิมชัย เหล่าพูลสุข นี่เองครับ

Written by Tiwakorn Laophulsuk


The historic information may not be accurate due to collected from third person interviewing. Blog owner might not accept the use for reference.

No comments:

Post a Comment

Give a comment ...