05 February 2014

(ร่าง) ข้อตกลงที่กว้างขวางและครอบคลุมในเรื่องอนาคตทางการเมือง

via Poramate Minsiri's Facebook 

*** ข้อตกลง *** ซึ่งลองร่างเพิ่มเติมกันได้ สักวันหนึ่งอันใกล้นี้เราอาจจะจำเป็นต้องใช้มัน

1. เปิดเผยประเด็นปฏิรูป ซึ่งเป็นนโยบายสาธารณะที่จะต้องพูดคุยกันอย่างเปิดเผย ลงรายละเอียด รวบรวมปัญหาความเดือดร้อนที่แท้จริงมาให้ได้และเรื่องใดเร่งด่วนต้องทำก่อน เช่น ปฏิรูปการเลือกตั้ง ปฏิรูปกลไกประชาธิปไตยทางตรงของพลเมือง เพื่อเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างกำลังคนไปปลดล็อค ประเด็นปฏิรูปที่สำคัญอื่นๆอีกมากมาย

2. การปฏิรูปต้องมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคนอย่างกว้างขวาง การปฏิรูปจะรับเหมาไปทำโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ โดยเฉพาะคู่ขัดแย้งหลักทั้งคู่ต้องไม่วางตัวเป็นเจ้าภาพ เจ้าเข้าเจ้าของ การปฏิรูป เพราะประชาชนอีกเป็นจำนวนมากจะต่อต้านทันที ประชาชนทุกคนในประเทศต้องเป็นเจ้าของการปฏิรูป

3. ทุกฝ่ายควรยึดมั่นต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยไม่ยั่วยุและเปิดโอกาสให้ความรุนแรงเข้ามาแทรกและดำเนินการโดยเคารพสิทธิของผู้อื่น

4. ฝ่ายทหารควรตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันโดยยึดหลักประชาธิปไตยและมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการพูดคุยระหว่างฝ่ายต่างๆ รวมถึงการเป็นพยานสำคัญในการทำข้อตกลงฉบับนี้ด้วยว่าจะมีการปฏิบัติตามข้อตกลงนี้กันต่อไป

5. เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาปฎิรูปประเทศไทยได้ ด้วยการจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศไทย ที่มีอำนาจนิติบัญญัติในมืออย่างชอบธรรมและถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพราะถ้ามีการจัดตั้งสภาปฏิรูปฯแบบที่ไม่มีอำนาจใดๆ ตามที่รัฐบาลเสนอมา ก็จะไม่เกิดการปฏิรูปอย่างแน่นอนเช่นในอดีตที่ผ่านมา สามารถทำได้จริงด้วยการออกกฎหมายและระเบียบ มากำหนดให้สภานิติบัญญัติเดิมกลายเป็น "สภานิติบัญญัติเพื่อการปฏิรูป"

6. สมาชิกสภานิติบัญญัติเพื่อการปฏิรูป นั้นจะต้องปฏิรูปการได้มาซึ่งตัวสมาชิกด้วย หากใช้วิธีการเลือกตั้งแบบปกติที่ผ่านมา จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย วิธีการเดียวที่จะได้มาอย่างชอบธรรมคือ ต้องกำหนดกติกา "ปฏิรูปการเลือกตั้ง" เช่น ผู้สมัครห้ามนำเสนอนโยบายเพ้อฝันใดๆ พรรคการเมืองและผู้สมัครจะต้องเปิดเผยรายละเอียดของการปฏิรูปทั้งหมด มาให้กกต.และสภาพลเมือง กลไกภาคประชาชน สถานีโทรทัศน์เพื่อการปฏิรูป ได้ตรวจสอบ จัดหมวดหมู่ เปรียบเทียบ
การหาเสียงต้องไม่ใช้เงิน ทางกกต.จัดให้ทั้งหมดเพื่อให้คนเก่ง คนดี พี่น้องที่มีความรักชาติบ้านเมืองทุกคนสามารถอาสาเข้ามาปฏิรูปประเทศได้

7. จัดตั้งสภาพลเมือง โดยเป็นที่รวมตัวกันของประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองและต้องการช่วยเหลือประเทศชาติในทันที เพื่อเป็นที่รวบรวมปัญหาความดือดร้อน ความต้องการจำเป็นเร่งด่วน ข้อเสนอต่างๆให้เป็นระบบ ทุกคนมีส่วนร่วมและเข้าถึงได้จริง เพื่อเป็นกลไกในการปฏิรูปที่เติมเต็มการทำงานของสภานิติบัญญัติเพื่อการปฏิรูป และผู้สมัครเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติเพื่อการปฏิรูปที่มีความตั้งใจแม้จะไม่ได้เข้าสู่สภานิติบัญญัติแต่ก็ยังสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องผ่านกลไกสภาพลเมือง

8. รัฐบาลเพื่อการปฏิรูป ทั้งช่วงก่อนและหลังการจัดตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติเพื่อการปฏิรูปนั้น จะต้องเป็นรัฐบาลคนกลางตามรัฐธรรมนูญเพื่อเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งทั้งปวง การบริหารประเทศจะต้องทำเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและให้บริการประชาชนได้ตามปกติ แต่ไม่ใช้นโยบายประชานิยมลงทุนมหาศาลชั่วคราว เพื่อให้สภานิติบัญญัติเพื่อการปฏิรูป ได้ดำเนินการปฏิรูปประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ให้แล้วเสร็จในกรอบเวลา 1-2 ปี จึงยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ เราจะได้กลไกบริหารและนิติบัญญัติใหม่ เครื่องยนต์ใหม่เอี่ยมซึ่งจะเป็นกำลังหลักในการปฏิรูปประเทศไทยในระยะยาวต่อไป

9. การลุกขึ้นสู้ของมวลมหาประชาชนถือเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูป ข้อตกลงจะต้องครอบคลุมถึงการถอนคดีความทางการเมืองและข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ในครั้งนี้ที่ และเปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการกปปส. ได้เข้ามามีส่วนร่วมในสมาชิกสภานิติบัญญัติเพื่อการปฏิรูป

ที่มาของแนวคืดการจัดทำร่างข้อตกลงนี้ จากการทำงานของวงมวลมหาประชาคุย พี่น้องทุกท่าน และจากรายงานวิจัย "ประเทศไทย: คำเตือนภัยว่าด้วยความขัดแย้ง" ของ International Crisis Group ที่ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ท่านได้นำมากล่าวถึงบนเวทีปราศัยนั้น มีประเด็นทางออกที่น่าสนใจเขียนไว้ในช่วงท้ายๆของรายงาน นั่นคือเราควรจัดทำ "ข้อตกลง" ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

ในรายงานวิจัยนี้เขียนไว้ว่าข้อตกลงที่กว้างขวางและครอบคลุมในเรื่องอนาคตทางการเมือง หรือขอเรียกสั้นๆกันในนี้ว่า "ข้อตกลง"

No comments:

Post a Comment

Give a comment ...