04 February 2014

เมื่องานที่ต้องทำมันหลายเรื่อง (Human Multitask)

เพราะโลกการทำงานของมนุษย์เงินเดือนเราในทุกวันนี้ชักจะอยู่ยากขึ้นทุกวัน ด้วยเหตุที่วิวัฒนาการของงานที่ทำมีความก้าวหน้ามากกว่าอดีต การมีทรัยากรบุคคลมีฝีมือที่จำกัด การที่องค์กรมอบหมายงานหรือโครงการให้ผู้ทำงานพร้อมๆ กันหลายงานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติไปเสียแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของผู้บริหารระดับกลางถึงระดับสูงซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เอกสารอ้างอิงและบทความทางวิชาการหลายเรื่อง ไม่ได้คัดค้านการทำ Multitask หรือ Human Task Switching เพียงแค่ชี้ให้เห็นว่าผลลัพธ์ของการทำมันก็อาจจะไม่ดีนัก หนึ่งในนั้นเป็นบทความของ LA Times โดย David E. Meyer นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้ให้ความเห็นว่าการทำงานของคนเราจะจัดการงานที่จับต้องได้ทีละเรื่อง การได้ทำงานหลายๆ เรื่องในขณะเดียวกันจะเป็นการเพิ่มเวลาของสมองในการหยุดงานเรื่องหนึ่งเพื่อย้ายไปทำงานอีกเรื่องหนึ่ง การรวมงานเข้าไว้ด้วยกันจะส่งผลให้งานที่ทำทั้งหมดนั้นมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดมากขึ้น

Multitask หรือการทำ Task Switching เป็นสิ่งที่รู้กันมานานพอสมควร หลักการเดียวกันนี้ได้ถูกเอาไปประยุกต์ใช้กับระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่นเราสามารถเล่นเว็ปไซต์ระหว่างฟังเพลงในเครื่องไปได้โดยคอมพิวเตอร์มีความสามารถมากพอที่จะประมวลผลการทำงานของสองอย่างไว้ด้วยกัน แต่สำหรับมนุษย์การทำ Multitask ในระยะยาว จะส่งผลให้ความจดจ่อต่องานมีสั้นลง, การตัดสินใจแย่ลง, ความจำสั้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวมันคงไม่กระทบอะไรมากหากเป็นพนักงาน Office ทั่วไป แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่เรดาร์การบิน, แพทย์, หรือวิศวกร ผลกระทบอาจจะมีความรุนแรงมากขึ้น

ในที่สุดแล้วงานแบบ Multitask เป็นทักษะที่มนุษย์สามารถทำได้โดยปกติ เช่น ดูถนนหน้าบ้านในระหว่างที่คุยโทรศัพท์และเอามือกดปุ่มปิดเครื่องดูดฝุ่นซึ่งจะไม่เห็นจะเป็นเรื่องยากอะไร แต่การทดสอบโดย Yuhong Jiang นักจิตวิทยาของสถาบันวิทยาศาสตร์ Massachusetts ได้ทำการทดลองให้นักศึกษาทำงานง่ายๆ คือ การระบุแยกแยะวัตถุที่มองเห็นในจอ, กับงานระบุแยกแยะว่าตัวอักษรที่เห็นเป็นตัวเลขหรือตัวอักษร

ก่อนเริ่มบททดสอบนี้นักศึกษาทุกคนยังขำนิดๆ เพราะเป็นโจทย์การทำงานที่ง่ายเหลือเกิน เมื่อลงมือปฏิบัติงานทั้งสองนี้พร้อมกันในช่วงเวลาครึ่งชั่วโมง ผลการตรวจสอบคลื่นสมองของผู้ทดสอบกลับพบว่าสภาวะการทำงานของสมองเป็นรูปแบบของการทำงานที่มีความเครียดสูง และผู้ทดสอบยังใช้เวลาคิดนานกว่าปกติบนเรื่องง่ายๆแบบนั้น

ถ้าตัวเราเองยอมรับว่า ลักษณะงานที่ทำมีรูปแบบของการทำ Mutitask อยู่ จงภูมิใจว่าเรามีศักยภาพของการมี 'สมองของผู้บริหาร' อยู่ในตัว การปรับตัวคือการแยกแยะ Task และปฏิบัติไปแต่ละส่วนโดยความเหมาะสม แต่จงยอมรับว่าการทำงานแบบนี้จะมีความเครียดที่เพิ่มมากขึ้นโดยได้ปริมาณงานเท่าเดิมเป็นข้อแลกเปลี่ยนนั่นเอง

ถ้าคิดว่าเราทำหลายอย่าง คำแนะนำของนักจิตวิทยาก็คือ เดินออกไปจากโต๊ะทำงานพร้อมสมุดจด ค่อยๆ เขียนเรื่องที่ต้องทำลงไปและกลับเข้ามาทำทีละอย่างอาจจะเป็นวิธีการรับมือที่ดีที่สุดในตอนนี้เพียงวิธีเดียว

Reference:
Narrated by Tiwakorn Laophulsuk

No comments:

Post a Comment

Give a comment ...