21 February 2014

รู้ทันกลโกงพนักงาน: เงินเดือนจาก HR

อีกเรื่องใน Series กลโกงพนักงาน คราวนี้มาในรูปแบบของเงินเดือนที่เกิดปัญหาขึ้นโดย HR ซึ่งหลายคนก็อาจจะแปลกใจเมื่อเงินเดือนอยู่กับ HR แล้วจะมีปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะพนักงานก็ต้องได้รับเงินเดือนทั้งหมด ตัวบริษัทฯก็ต้องดูเรื่องภาษีทั้งหมด โกงไม่ได้ โปรดติดตามและคิดตามดังต่อไปนี้

สืบเนื่องจากบริษัทของมิตรสหายท่านหนึ่ง เป็นองค์กรขนาดกลาง มีพนักงานราวๆ 200 คน ระบบการบริหารเงินเดือนจึงถูกทำโดยแผนกบุคคล (ตามปกติ) ผ่านระบบซอฟท์แวร์บริหารจัดการเงินเดือน ซึ่งในแต่ละรอบก็จะมีการส่งตรวจสอบบัญชีเงินเดือนไปยังฝ่ายบัญชี และตามด้วยกรรมการบริษัทก่อนการอนุมัติ

บริษัทของมิตรสหายท่านนี้ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับธนาคาร โดยที่ธนาคารสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการเปิดบัญชีใหม่ของพนักงาน รวมไปถึงบัตรเดบิตโดยที่ไม่ต้องฝากเงินขั้นต่ำเอาไว้ก่อน และด้วยองค์ประกอบเหล่านี้นี่เองจึงเริ่มทำให้เกิดปัญหากลโกงพนักงานในรอบนี้

อยู่มาวันหนึ่งหัวหน้าแผนกบุคคลของมิตรสหายท่านนี้ได้เริ่มทำการบันทึกประวัติพนักงานที่ลาออกไปแล้วกลับเข้ามาใหม่ เพราะมีอำนาจในการแก้ไขข้อมูล พร้อมกับตั้งฐานเงินเดือนขึ้นมาเป็นจำนวนไม่มาก (ราวๆ 6,000 บาท) และมีการสร้างตัวเลขรายรับ, รายหัก เช่น มีการมาสาย, มีการได้เงินค่าคอมมิสชัน เสมือนประหนึ่งเป็นคนจริงๆ

แต่เมื่อจะโอนเงิน ทางหัวหน้าฝ่ายไม่ได้ให้โอนเข้าบัญชีตัวเองหรอกนะ (โอนเข้าตัวเองก็โง่นะซี้) จึงได้ประสานไปที่ธนาคารขอเปิดบัญชีใหม่ในชื่อบุคคลที่สร้างขึ้นมา โดยส่งสำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของชื่อนั้นๆไปโดยรื้อเอกสารจากกลุ่มพนักงานที่ลาออกไปแล้ว ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคารจึงเปิดบัญชีใหม่ได้อย่างง่ายดาย

เมื่อเงินเดือนออก ท่านผู้บริหารบุคคลท่านนี้จึงได้เอาบัตรเดบิตที่ตนได้รับจากธนาคาร ในชื่อของพนักงานที่ลาออกไปแล้วมากดเงินเล่นสบายใจเฉิบ และได้มีการซื้อ iPad และดาวน์รถคันใหม่เพื่อชื่นชมความสามารถในการเล่นแร่แปรธาตุอีกด้วย

แต่โชคดีที่บริษัทของมิตรสหายท่านนี้รู้ทันเสียก่อน เพราะระเบียบบริษัทฯ ที่ว่า พนักงานใหม่จะต้องถูกหักเงินประกันด้วย แต่หัวหน้าแผนกบุคคลท่านนี้ลืมใส่ส่วนของการหักเงินประกันไป จึงทำให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในท้ายสุด จึงเป็นเรื่องราวของเงินเดือนด้วยประการฉะนี้

แก้ไขอย่างไร
  • กระจายชื่อพนักงานจากระบบงานบุคคล ให้หัวหน้าแผนกเพื่อสุ่มตรวจความถูกต้องของรายชื่อพนักงาน
  • ตรวจสอบความสัมพันธ์ของเงินประกันสังคม / ภาษี กับการจ่ายเงินเดือนเสมอ
  • ให้สิทธิการเพิ่มพนักงานเป็นเฉพาะเจาะจงลงไปในตัวโปรแกรมบริหารจัดการ ไม่ควรให้ทำเงินเดือนพร้อมกับเปลี่ยนแปลงรายชื่อพนักงานในบุคคลเดียวกัน
Written by Tiwakorn Laophulsuk

No comments:

Post a Comment

Give a comment ...