12 October 2013

ประเทศไทย เวลา ไฟฟ้า และนิวเคลียร์

Coal Power Plant [Image source Interesting Energy Facts]
มีหลายครั้งที่ไปแวะเที่ยวต่างประเทศ ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของวิถีชีวิตของประเทศต่างๆ ทั้งออสเตรเลีย, เกาหลี, ญี่ปุ่น, มาเก๊า ทุกคนจะเน้นแต่การประหยัดน้ำ นั่นคือที่แปลกเพราะไม่มีที่ไหนพูดเรื่องการ "ประหยัดไฟ" ซักเท่าไหร่

มีแค่เวียดนามประเทศเดียวที่พูดถึงเรื่องไฟฟ้าจริงๆจังๆ เพราะช่วงที่ผมเคยไปทำงานระยะสั้นที่เวียดนามได้นั่งคุยกับคนเวียดนามท่านหนึ่งที่อยู่ในกรุ๊ป One Day Trip ด้วยกัน พูดเกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้าว่า ประเทศเวียดนามเองโอยเฉพาะเมืองหลวงมีไฟฟ้าไม่พอ ในช่วงหัวค่ำทางราชการจะแจ้งเกี่ยวกับโซนดับไฟฟ้า ซึ่งจะหมุนเวียนกันดับไฟฟ้าผลัดกันไปพื้นที่ละ 1 ชั่วโมง ปัญหานี้คงจะเป็นไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งคำบอกเล่านี่จริงของเขา เพราะผมไปเดิน Big C ในฮานอยพบปัญหาไฟดับตั้ง 4 รอบ

ตอนนั้นใจก็นึกไปว่า เพราะพวกประเทศใหญ่ๆมันมีนิวเคลียร์ มันเลยไม่ต้องประหยัดไฟฟ้ากระมังเขาก็เลยจัดกันเต็มที่ ก็เลยอยากจะรู้ว่าพวกนั้นเขาจ่ายค่าไฟถูกกว่าเราหรืออย่างไร

ยกตัวอย่างถ้าเป็นบ้านๆ สำหรับการใช้งานไฟฟ้า 500 หน่วย ซึ่งคงมีแอร์ซักตัว ตู้เย็น 1 ตัว ทีวีและเปิดไฟธรรมดาๆ สมติถ้าเราอยู่ในแต่ละประเทศจะต้องควักเงินจ่าย ประมาณนี้
อาร์เจนตินา - 870 บาท
ออสเตรเลีย - 6,900 บาท
ฮ่องกง - 3,150 บาท
ญี่ปุ่น - 3,450 บาท
ไทย - 1,470 บาท
[อ้างอิง ราคาค่าไฟฟ้าอ้างอิงสากล]

ถ้าดูราคาแล้วการที่ประเทศอื่นๆไม่ค่อยปริปากบ่น คงเป็นเพราะ "รายได้ของประชากร" เฉลี่ยที่มีรายรับต่อหัวต่อปีต่างจากเรานั่นเอง

มองราคาจากการผลิตไฟฟ้า ต้นทุนการผลิตพลังงานเมื่อเทียบราคาต่อหน่วยกับพลังงานไฟฟ้าที่ได้เรียงลำดับจากถูกที่สุดไปหาแพงที่สุด จากการวิเคราะห์ในแต่ละประเทศจะมีการพิจารณาที่ไม่เหมือนกัน ถ้ามองเฉพาะต้นทุนต่อพลังงานที่ได้จะพบว่า นิวเคลียร์หรือโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนจะมีราคาถูกสุด แต่หากรวมต้นทุนของระบบการส่งไฟฟ้า จะเป็นโรงไฟฟ้าจากแก๊ส, โรงไฟฟ้าพลังน้ำ, และถ่านหิน ก็ยังคงมีต้นทุนการสร้างถูกที่อยู่ [อ้างอิง: ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแยกตามแหล่งกำเนิดไฟฟ้า]

หากเรายังต้องการ "รักษาราคาค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงขึ้น" ก็ต้อง "ยอมสร้างโรงไฟฟ้าที่มลพิษ" เยอะหน่อย แม้ว่าจะหาที่ตั้งโรงไฟฟ้ายากเย็นก็ตาม จนกว่าเราจะพร้อมมากขึ้นเพื่อเดินหน้าไปสู่ Clean Energy

Solar Power Plant
Solar Power Plant [Image source Solarknowledge]
ในเชิงนโยบายของประเทศไทย เมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว การที่เรามีการรณรงค์ประหยัดพลังงานไฟฟ้า หรือการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติทุกอย่างเป็นเรื่องดี เพราะถือว่าเป็นการทำแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยให้เราสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ช้าลง แม้การพิจารณาการใช้ "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะไม่ได้ช่วยให้ค่าไฟฟ้าถูกลง" แต่คงเหตุผลเรื่องของความสะอาดของพลังงานที่อาจจะเลือกใช้ได้ในอนาคต เพราะเราคงเอาแต่เผาแก๊สเผาถ่านต่อไปในระยะยาวตลอดไปไม่ได้ ความจำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าในระยะยาวต่อไป

ชื่อบทความอาจจะเหมือนหนังไทยบางเรื่องที่ตั้งชื่อมุกแบบนี้ แต่ที่ดูๆมาของเหตุผลทั้งหมดเป็นแนวทางในการหาคำตอบให้ประเทศว่าจะใช้ไฟฟ้าในราคาถูกเท่าไหร่ และจะใช้ไฟฟ้าถูกไปอีกนานแค่ไหน ก่อนจะเดินหน้าสู่ Clean Energy ที่ยังไม่มีใครกล้าจะตอบว่า แล้วตรงไหนคือจุดสมดุลของความต้องการของพวกเราด้วยกันเอง

Written by Tiwakorn Laophulsuk

No comments:

Post a Comment

Give a comment ...