กองทุนรวมเป็นคำตอบสำหรับจุดตรงกลาง ระหว่าง การเก็บเงินในบัญชีกับการเอาไปลงทุนในหุ้น สมมติถ้าเรามาลองเรียงลำดับความเสี่ยง จากเสี่ยงน้อยไปมากโดยปกติมักจะเป็นแบบนี้
ข้อสุดท้ายแค่ล้อเล่นนะ แต่มันเสี่ยงสุดจริงๆเพราะการฝังไห นอกจากเงินจะไม่งอกเงยแล้วแถมยังเสี่ยงต่อความเสียหายด้วย
- เงินฝากออมทรัพย์
- เงินฝากประจำ
- พันธบัตรรัฐบาล
- กองทุนรวม
- หุ้นในตลาดหลักทรัพย์
- การลงทุนทำธุรกิจเอง/เปิดนิติบุคคล
- และ การเอาเงินไปฝังไหหลังบ้าน
ถ้าอยากอ่านแบบเป็นทางการ ผมคงแนะนำให้อ่านจาก กองทุนรวมคืออะไรของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน MFC ซึ่งเขาเขียนในเชิงรายละเอียดชัดเจนดี แต่ถ้าคนขี้เกียจอ่าน ผมก็คงยกอุปมาอุปไมยสำหรับกองทุนไปตามตัวอย่างดังต่อไปนี้
สมมติเราเปิดอินเตอร์เน็ตเห็นว่า ถ้าไปฝากเงินแบบประจำที่ฮ่องกงแล้วได้ดอกเบี้ยสูงกว่าในไทย ครั้นเราจะแลกเงิน หรือไปเปิดบัญชีก็ลำบาก แต่มีบริษัทหนึ่งบอกว่า เขาสามารถเอาเงินรวมๆจากหลายคนมาให้เขาแล้วเขาจะเอาไปฝากที่ฮ่องกงให้โดยมีค่าใช้จ่ายกรณีได้รับดอกเบี้ยเงินฝากแล้วนิดหน่อย นั่นคือเหตุผลของการมีกองทุนรวม
หรือเราอยากเล่นหุ้นแต่ไม่รู้จะเล่นตัวไหน ซึ่งมีบริษัทอีกอันหนึ่งบอกว่าเอาเงินมาฝากที่เขาแล้วเขาจะมีคนเล่นให้ ถ้าได้กำไรหรือปันผล เขาจะเอาเงินมาแบ่งคืนกันให้ โดยมีค่าบริหารจัดการนิดหน่อย แบบนี้ก็เป็น concept ของการเป็นกองทุนรวม
แต่ไม่ใช่ตาสีตาสาจะไปรวมเงินชาวบ้านแล้วเอาไปลงทุนได้เพราะไม่งั้นจะเป็นแชร์ชม้อย ซึ่งกองทุนรวมจะต้องมีการกำกับดูแลที่รับรองจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้เรามั่นใจได้ว่าเงินที่เราลงทุนไป จะไปอยู่ในรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เช่น ถ้ากองทุนระบุว่าจะไปซื้อหุ้นก็ต้องซื้อหุ้น, จะซื้อทองก็ต้องซื้อทอง, เอาไปฝากเงินต่างประเทศก็ต้องทำตามนั้น จะทำยอกย้อนหรือแปลงวัตถุประสงค์เป็นอย่างอื่นไม่ได้
ผลประโยชน์จากกองทุนรวม จะมาในรูปแบบของการเปลี่ยนแปลง NAV เมื่อเราเริ่มต้นซื้ออาจจะมี NAV = 10.00 บาทต่อหน่วย แต่เมื่อเวลาผ่านไปค่า NAV จะเพิ่มขึ้น สมมติเป็น 10.05 บาทต่อหน่วย ถ้าเราซื้อไว้ 100,000 บาท เราจะมีหน่วยการลงทุนเมื่อตอนซื้อ 10,000 หน่วย และเมื่อขายคืนทั้ง 10,000 หน่วยแล้ว เราจะได้เงินมา 100,500 บาท โดยไม่เสียภาษี
ผลตอบแทนของกองทุนรวมจะไม่ได้มีรูปแบบเหมือนฝากเงินกับบัญชีฝากประจำ จะไม่ได้มีเงินออกดอกผลมาแบบเป๊ะๆ สมมติกองทุนรวมที่ระบุว่าได้ผลตอบแทนประมาณ 3.00% เมื่อครบอายุกองทุนก็มีความเป็นไปได้ว่า เราอาจจะได้รับผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์มากหรือน้อยกว่าที่ระบุไว้เล็กน้อยได้ โดยปกติแล้วกองทุนจะแจ้งตัวเลขที่ต่ำที่สุดของผลตอบแทนเอาไว้อยู่แล้ว จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ้ากองทุนระบุว่าได้ผลตอบแทน 2.70% เรามักจะได้จริงๆประมาณ 2.74% หรือ มากกว่าที่เขาระบุไว้เล็กน้อยเป็นส่วนใหญ่
กองทุนบางตัวเอาไว้สำหรับลดหย่อนภาษี มักจะมีชื่อขึ้นด้วยคำว่า LTF หรือ RMF ซึ่งเราสามารถรับทราบเงื่อนไขเมื่อตอนที่ซื้อได้ว่าผลประโยชน์ในระยะยาวเป็นอย่างไรเอาไว้มีโอกาสคงได้เล่าเรื่อง LTF/RMF ว่าการรักษาผลประโยชน์ทางภาษีของเรานั้นทำได้ไม่ยากผ่านกองทุนรวมประเภทนี้
ทั้งหมดนี้ในแต่ละกองทุนจะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันนิดหน่อย ซึ่งสถาบันการเงินจะให้ทำการประเมินความเสี่ยงที่เรารับได้ก่อนทุกครั้งไป ตัวอย่างง่ายๆ กองทุนรวมที่มีผลกับราคาทองคำหรือราคาน้ำมัน ย่อมมีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนที่ลงทุนกับพันธบัตรหรือลงทุนกับการฝากเงินที่สถาบันการเงินภายในประเทศอยู่แล้วแน่นอน ดังนั้นเรื่องการตัดสินใจเลือกจึงไม่ทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก
ถ้าจะให้เงินสามารถทำงานให้งอกเงยได้ กองทุนรวมจึงเป็นหนทางหนึ่งที่เป็นการฝากให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญช่วยในการจัดการบริหาร โดยเราไม่ต้องนั่งเฝ้าเงินกองนั้นด้วยตัวเอง
Written by Tiwakorn Laophulsuk
No comments:
Post a Comment
Give a comment ...