ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณตั๋วฟรีจาก
KBank ในบริการ The Premiere ที่ส่ง SMS สิทธิพิเศษชวนให้ไปดูภาพยนตร์ Gravity ฟรี 2 ที่นั่ง ซึ่งยังจัดโรงใหญ่ที่ SFX Central World เหมือนเดิม ซึ่งตอนแรกก็หมายตาไว้อยู่แล้วว่าคงต้องไปดูเพราะมันเป็นแนว Sci-fi ที่ชอบอยู่แล้ว การได้บัตรฟรีพร้อมป๊อบคอร์นเป็นอะไรที่สุดยอดมากครับ อิ อิ
Plot เรื่องเป็อุบัติเหตุของการปฏิบัติภาระกิจการซ่อมอุปกรณ์กล้องโทรทัศน์ Hubble บนอวกาศ ซึ่งปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีเศษขยะอวกาศความเร็วสูงที่เพิ่งเกิดขึ้นจากการระเบิดของดาวเทียมดวงอื่น นักบินอวกาศจึงต้องหาทางดิ้นรถในการเอาตัวรอดให้ได้ แต่สำหรับ
Plot เรื่องละเอียดๆคงหาอ่านได้ตาม Web ชั้นนำทั่วไป
|
Gravity Movie Poster |
ภาพยนตร์ Gravity สำหรับผู้ที่ไม่ทราบเรื่อง Space Science อาจจะดูน่าเบื่อ ภาพหมุนไปหมุนมา เครื่องไม้เครื่องมือแปลกเยอะไปหมด ไม่รู้ว่าแต่ละอย่างเอาไว้ทำอะไร อีกทั้งยานชื่อแปลกๆมากมาย แต่สำหรับคนที่รู้เรื่องก็จะสามารถติดตามและคิดหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อลุ้นช่วยตัวละครไปด้วย เรามาดูกันดีกว่าว่าแต่ละอันมันคืออะไรบ้างโดยอธิบายกันแบบบ้านๆครับ
Space Shuttle กระสวยอวกาศที่ออกแบบมาเพื่อนำมาใช้สำหรับการขนส่งนักบินอวกาศ, หรืออุปกรณ์สิ่งของซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ ซึ่งสหรัฐเป็นผู้ควบคุมภารกิจ ส่วนในภาพยนตร์ STS-157 ก็คือหมายเลขภารกิจของกระสวยอวกาศลำนี้ที่ตั้งชื่อว่า Explorer นั่นเอง
Hubble Space Telescope เป็นกล้องอวกาศซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เป้าหมายของภาพยนตร์นี้ขึ้นไปซ่อมก่อนที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น กล้องอวกาศนี้ถูกใช้งานมาตั้งแต่ปี 1990 และถูกซ่อมครั้งใหญ่ในปี 1993 เนื่องจากถ่ายภาพไม่ชัด การใช้งานยังใช้อยู่จนปัจจุบัน วิธีการซ่อมก็ใช้หลักการเดียวกับภาพยนตร์ Gravity นำเสนอ โดยการส่งกระสวยอวกาศขึ้นไปพร้อมนักบินอวกาศที่สามารถซ่อมบำรุงได้
|
ขยะอวกาศ |
Space Debris หรือขยะอวกาศ เป็นปัญหาจริงที่เกิดบนอวกาศเราจริงๆในปัจจุบันนี้ด้วย ขยะอวกาศมีทั้งเป็นสิ่งของจากธรรมชาติเช่น อุกกาบาต หรือเป็นทั้งของที่มนุษย์ทำขึ้น เช่น เศษชิ้นส่วนจากยานอวกาศ, ซากจรวดขับดัน, หรือ ดาวเทียมที่ชำรุดก็กลายเป็นขยะชิ้นใหญ่ที่มีความเร็วได้มากถึง 42,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ในภาพยนตร์ขยะอวกาศมีความเร็ว 20,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขยะอวกาศที่มีขนาด 1 เซนติเมตร สามารถทำให้เหล็กที่หนา 10 เซนติเมตรทะลุได้ [
อ่านเพิ่ม] ปัจจุบันมีการกำหนด List ขยะอวกาศสำคัญๆไว้ประมาณสองหมื่นกว่าชิ้น
|
สถานีอวกาศนานาชาติ [image from Wikipedia / NASA] |
International Space Station (ISS) สถานีอวกาศนานาชาติ ใช้เป็น Lab ทดลองทางวิทยาศาสตร์บนอวกาศ ด้วยมูลค่าการก่อสร้าง 150,000,000,000 USD (หนึ่งแสนห้าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างคือ สหรัฐฯ, โซเวียต, ญี่ปุ่น, และแคนาดา ด้วยวงโคจรระดับต่ำที่ความสูง 330 - 410 กิโลเมตรจากโลก จึงต้องเดินทางด้วยความเร็ว 27,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพื่อรักษาระดับวงโคจร ด้วยความเร็วนี้จะทำให้ ISS ใช้เวลาประมาณ 90 นาทีในการเดินทางครบรอบโลก 1 รอบนั่นเอง
|
กระสวย Soyuz [image from Wikipedia / NASA] |
Soyuz (โซยุส) ยานขนส่งในอวกาศสัญชาติรัสเซีย เริ่มใช้ Model นี้ตั้งแต่ปี 1966 มีการพัฒนาต่อเนื่องเพื่อใช้ในภาระกิจการขนส่งอุปกรณ์และนักบินอวกาศ ซึ่งยาน Soyuz เป็นยานขนส่งมาตรฐานที่จะต้องเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศไว้ตลอดเวลาเพื่อใช้ในการช่วยเหลือฉุกเฉิน ดังนั้นทุกสถานีอวกาศที่ปรากฎในภาพยนตร์จึงมียานขนส่งที่มีลักษณะเดียวกับ Soyuz ติดอยู่ด้วยเสมอ
กระบวนการ Re-entry (กลับเข้าสู่บรรยากาศโลก) เป็นอุปสรรคสำคัญของการลงจากอวกาศ เราอาจจะเห็นมาตั้งแต่ภาพยนตร์ Appollo 13 ซึ่งการกลับโลกในเรื่อง Gravity มีเฉพาะ Re-entry module (ชุดตรงกลางลำ) ของ Soyuz เท่านั้นที่จะสามารถทนต่อความร้อนของการเสียดสีกับบรรยากาศเพื่อกลับสู่โลกได้
|
ศูนย์ควบคุมสถานีอวกาศนานาชาติ (ศูนย์ฮุสตัส) [image from Wikipedia / NASA] |
Houston Mission Control Center (ฮุสตัน) เป็นศูนย์ควบคุมการบินและภาระกิจอวกาศยาน ซึ่งจะควบคุมตั้งแต่การปล่อยตัวจนถึงการลงจอด
บทสรุป Review ของภาพยนตร์ Gravity เป็นภาพยนตร์แนว Action-Drama มีการใช้เทคนิคการถ่ายทำแบบไร้น้ำหนักที่ดูแล้วเป็นธรรมชาติโดยที่การถ่ายทำจริงไม่ได้ทำในพื้นที่ Zero-G เลย หรือการถ่ายแบบ Single shot โดยไม่ตัดภาพมีใช้อยู่เป็นระยะตลอดทั้งเรื่อง แม้เนื้อหาโดยรวมจะไม่เข้มข้นนัก อีกทั้งเสียงในหนังอาจจะไม่โดนใจคนเป็น Sound Engineer (เพราะอวกาศไม่ค่อยมีเสียง) แถมทั้งมีบทพูดเยอะ แต่ความสมจริงสมจังด้าน CG นั้นมีสูงโดยเมื่อเป็นฉากตื่นเต้นก็ทำให้หยุดหายใจได้ ถ้าจะดูแล้วหาความรู้แถมๆไปด้วยจะทำให้สนุกขึ้นอย่างมากเลยทีเดียว
แต่สิ่งที่ผมยังสงสัยท้ายสุดตอนออกจากโรงหนัง เราจะเอาไม้ปิงปองขึ้นไปบนสถานีอวกาศทำไม?
Written by Tiwakorn Laophulsuk
No comments:
Post a Comment
Give a comment ...