18 June 2013

ตามทวงหนี้ถึงบริษัท ทำอย่างไรให้ได้เงินและได้ผล

บทความนี้อยากให้เจ้าหนี้เข้ามาอ่าน เพราะเมื่อไม่นานมานี้ มีกระทาชายนายหนึ่งบุกโดยการโทรเข้ามาที่ Office และถล่ม Fan Page ของบริษัทเละเทะ อันเนื่องมาจากว่า พี่แกต้องการจะทวงหนี้จากพนักงานบริษัทรายหนึ่งที่บังเอิญติดค้างหนี้สินต่อกัน แต่การที่โทรไปทวงแล้วไม่ได้ก็เลยมาลงกับบริษัทฯ ที่ลูกหนี้เป็นลูกจ้างอยู่

ข้อความบางส่วนจากการตามทวงหนี้ผ่าน Facebook ของบริษัทฯ
ตั้งใจว่าจะให้เป็นกรณีศึกษา ทั้งในส่วนของคนที่ทำงานในบริษัทที่เกี่ยวกับงานบริหารจัดการและตัวเจ้าหนี้เองว่าทำอย่างไรการทวงหนี้ถึงจะได้ทั้งเงิน และได้ผลอย่างถูกต้อง

การทวงหนี้ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนน้อยที่สุด เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร และผู้ทวงหนี้ก็มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าต้องการอะไร ปัญหาของลูกหนี้ที่เจอคือ "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" หรืออาจจะ "มี หนี แต่ไม่จ่าย" แต่ที่ต้องรู้เอาไว้ชัดๆ ถ้าการกู้ยืมใช้วิธีการบอกปากเปล่ากันนั้นให้รู้ไปเลยว่า พูดลมก็ได้ลม

หลังจากที่หนุ่มน้อยนายนี้มาระเบิดลงทั้ง e-mail และสื่อออนไลน์ซักพัก อ้างสิทธิ์ร้อยแปด (แต่มันไม่เคารพสิทธิของเราแฮะ) ทางบริษัทเราจึงได้ให้สติไปและชี้แจงว่า ถ้าต้องการจะให้เราติดตามนั้น คุณจะต้องมีอะไรบ้าง
  • หนังสือสัญญาการกู้ยืมเงิน หนังสือสัญญาค้ำประกัน แต่ถ้าไม่มีก็ ...
  • หนังสือแจ้งความ หรือการร้องทุกข์ การแจ้งเหตุการละเมิดสิทธิ์ ที่แสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจ
  • ถ้าไม่มีก็บันทึกประจำวันอะไรก็ได้ซักอย่าง ที่เจ้าหน้าที่เขาะบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
  • หลักฐานความเชื่อมโยงทางธุรกรรมต่างๆ ระหว่างตัวเราและผู้กู้ยืม ให้ถูกต้อง เชื่อมโยง และเชื่อถือได้
  • ถ้าไม่มีอะไรซักอย่าง ก็ทำหนังสือร้องเรียน หรือหนังสือแสดงความจำนงค์เพื่อจะขอความร่วมมือเพื่อให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาส่งไปที่บริษัทนั้น เขียนให้มีตรรกะหน่อย บางทีอาจจะได้รับการพิจารณา
  • ระลึกไว้ว่า คดีกลับเข้าตัวเองแน่ๆ ถ้าใช้การข่มขู่คุกคามลูกหนี้หรือบริษัท และมันจะไม่มีผลอะไรเลย นอกจากเป็นหลักฐานเข้าตัวเองไปเรื่อย
ซึ่งโดยทั่วไป ถ้าไม่ได้ทำหนังสือสัญญาใดๆกันแล้ว ต้องยอมรับว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ในการให้กู้ยืมกัน ให้ถือเสียว่า เสียเงินและเสียเพื่อนไปแล้ว

สิ่งที่ "บริษัท"ต้องประกาศให้ชัดเจน คือ
  • การไม่เปิดเผยข้อมูลพนักงาน ถ้าจะเปิดเผยต้องตามคำสั่งศาลหรือพนักงานผู้มีอำนาจในการขอข้อมูล
  • การปฏิบัติตามคำสั่งของราชการ ต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ใครโทรมาบอกก็ทำอะไรไม่ได้
  • ถ้าจะเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ขอให้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของภาครัฐก่อน
แม้โอกาสจะน้อยนิด หากผู้ให้กู้ (เจ้าหนี้) ต้องการจะให้บริษัทดำเนินการ ก็มีความจำเป็นจะต้องเชื่อมโยงหลักฐานและเหตุผลต่างๆ เอาให้พอฟ้องร้องกันได้ จึงพอที่จะให้ศาลหรือพนักงานของรัฐที่บังคับคดี แจ้งมายังบริษัท เพราะมีความเป็นไปได้ที่บริษัทหลายๆแห่ง อาจจะมีเรื่องของค่าสวัสดิการหรือเงินประกันในส่วนของพนักงานรายนั้น หักเงินออกเพื่อชำระให้กับเจ้าหนี้ได้

ทางที่ดีคือทำให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นดีกว่า เพราะคนจะมายืมเงินเรา เขาก็กราบเราปานเทวดาทั้งนั้นแหละ ซึ่งนิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การโวยวายอย่างไรก็ไม่มีผล มาคุยกันแบบผู้เจริญแล้วมีโอกาสมากกว่านะ

Written by Tiwakorn Laophulsuk

No comments:

Post a Comment

Give a comment ...