22 June 2013

ศีล 227 ของสงฆ์ วิทยาศาสตร์และทฤษฎีบริหารเมื่อ 2500 ปี

งานบวช JingJun
งานบวช JingJun, Photo by daewoojaa
ชายไทยอย่างน้อยถ้าไม่เป็นทหารและก็ต้องบวช 1 พรรษา ผู้หลักผู้ใหญ่เขาว่าเอาไว้ แต่ถึงของเราจะไม่ถึง 1 พรรษา ก็ถือซะว่าเราตั้งใจปฏิบัติในระยะเวลา 10 วันช่วงที่บวชในระดับหนึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดี และภูมิใจกับตนเองที่อย่างน้อยๆ เราก็ปฏิบัติได้

ในช่วงที่บวช มีสิ่งที่น่าสนใจและเรียนรู้หลายอย่าง ถ้าจะให้พูดกันตรงๆคือ ถ้าไม่ไปบวชแล้วก็คงจะไม่มีเวลาไปศึกษาเรื่องของธรรมะ หรือกิจของการเป็นพระสงฆ์ นอกเสียจากว่าจะเป็นฆราวาส (บุคคลธรรมดานั่นแหละ) ที่ตั้งใจอ่านศึกษาพระไตรปิฎก หากใครได้ศึกษาและปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องน่านับถืออย่างยิ่ง

ในช่วงที่บวชนั้น นอกจากการกวาดลานวัดแล้ว สิ่งที่พระผู้ใหญ่ได้สอนเอาไว้อย่างน้อยๆ คือพยายามศึกษาเรื่องพระธรรมวินัย หรือศีล 227 ที่พระสงฆ์ต้องถือปฏิบัติ สิ่งที่น่าสนใจในการอ่านเนื้อหาแล้วก็คือ แม้เวลาจะผ่านล่วงมากว่า 2500 ปี แต่กฎทุกข้อมีการจัดกลุ่มเนื้อหา ทั้งในด้านพฤติกรรม, การบริหารจัดการ, และการควบคุมระเบียบวินัยได้ดีจนถึงปัจจุบัน ถ้าคิดกลับมาในปัจจุบันต้องใช้ศาสตร์หลายเรื่องที่สนับสนุนเหตุผลในการเขียนวินัยสงฆ์เลยทีเดียว

สิ่งที่ปรากฎและที่มีมากที่สุดในศีล 227 ข้อ จะเกี่ยวกับเรื่องการความประพฤติและการแสดงออก หากเข้าใจวัตถุประสงค์ของธรรมวินัยแล้ว พระพุทธเจ้าทรงต้องการให้สงฆ์มีความสำรวม ไม่แสดงความต้องการสิ่งโน้นสิ่งนี้ ไม่โลภในทรัพย์สินของผู้อื่น วางตนด้วยอาการสงบนิ่ง การแสดงออกด้วยการพูดให้ดี คิดให้ดี ทำให้ดี ซึ่งเพียงแค่เราเข้าใจตรรกะของการทำให้ดีก็ปฏิบัติตามโดยไม่ยากเลย

ในด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม พระธรรมวินัยห้ามพระสงฆ์ทำลายพืชพันธ์ สัตว์ สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการขับถ่ายก็ต้องมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย นี่เป็นองค์ประกอบที่น่าทึ่งสำหรับ 2500 ปีก่อน เพราะเรื่องการสาธารณสุขเป็นองค์ความรู้ที่ยังไม่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น

ในด้านสุขภาพ ด้วยการที่พระสงฆ์ไม่สามารถออกกำลังกาย, ไม่สามารถว่ายน้ำ สุขภาพย่อมทรุดโทรมเร็วเป็นธรรมดา แต่กลไกที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพกลับเป็นข้อบังคับที่ให้พระสงฆ์ต้องออกบิณฑบาตร ซึ่งนอกจากเป็นการบังคับให้มีกิจกรรมกลายๆแล้ว ยังเป็นการให้พระสงฆ์ได้ติดต่อกับสังคมและโลกภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าใครบวชคงจะเคยครั่นเนื้อครั่นตัวอยากออกไปวิ่งไปตีแบตก็คงทำไม่ได้ การออกบิณฑบาตรตอนเช้าเป็นเรื่องที่ช่วยให้ผ่อนคลาย ช่วยทำให้เลือดลมให้ไหลเวียนได้ดีทีเดียว ถ้ายังออกกำลังมากไม่พอการมากวาดลานวัดหรือทำความสะอาดวัดในช่วงบ่ายก็ช่วยได้ไม่น้อย

ด้านการบริหารจัดการมนุษย์ ด้วยการที่มนุษย์เป็นสิ่งที่บริหารจัดการยากและต่างมีความคิดแตกต่างกัน ในธรรมวินัยได้มีข้อห้ามหลายอย่าง ซึ่งล้วนเป็นการตัดประเด็นที่จะเกิดโอกาสสร้างความขัดแย้ง หากเกิดไปแล้วก็มีกรอบข้อตกลงในกรณีเกิดข้อขัดแย้งต่างๆ แม้ว่าหัวข้อจะไม่ได้ปรากฎเหมือนหลักการบริหารบุคคลสมัยใหม่ แต่การวางกรอบการปฏิบัติไว้หลายข้อ ล้วนเป็นข้อห้ามเพื่อไม่ให้เกิดข้อพิพาท อีกทั้งมีกระบวนการรองรับเพื่อตัดสินความถูกผิดได้ชัดเจนและเป็นธรรม

หลักการของความพอเพียง ความพออยู่ พอกิน พอใช้ การดำรงอยู่ด้วยความสมถะ นอกจากเป็นการช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ยังช่วยให้จิตใจผ่องใส ซึ่งคนในสังคมเมืองอันเร่งรัด แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น คงไม่เคยได้สัมผัสถึงความรู้สึกนี้กันเลย

น่าคิดทีเดียว หากใครที่ศึกษาเรื่องของพุทธศาสนา เพราะยังมีอีกมากที่ใช้หลักการความคิดจากธรรมชาติ มีการใช้เหตุผลในหลักทางวิทยาศาสตร์ และใช้ศาสตร์อีกหลายแขนงที่โลกปัจจุบันต้องแตกเป็นสาขาต่างๆมากมายที่เมื่อก่อนหน้าอันยาวนานนั้นไม่ได้มีทฤษฎีหรือข้อพิสูจน์ด้วยซ้ำ นั่นเป็นเพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้และคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถท้าพิสูจน์ให้เห็นผลได้ด้วยการปฏิบัติ และเข้าใจด้วยความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ใช่เพียงเพราะการใช้ความเชื่อในการสอนผู้อื่น

Written by Tiwakorn Laophulsuk

Read More

No comments:

Post a Comment

Give a comment ...