16 April 2016

Hyperloop อนาคตหรือแค่ฝันการเดินทางความเร็วสูง?


ช่วงปีที่ผ่านมาบางท่านคงเห็นข่าวของโครงการ SpaceX ปะปนกับการแข่งขันการออกแบบอากาศยานในการบริการลูกค้าทั่วไปในการไปเที่ยวอวกาศ แต่ในข่าวที่ปนๆกันอยู่มีเรื่องของ Hyperloop อยู่ด้วย

Elon Musk
Elon Musk เป็นผู้ให้แนวคิดการทำ Hyperloop ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัท SpaceX ที่เป็นบริษัทเอกชนที่สามารถใช้เทคโนโลยีจรวดในกิจการที่เกี่ยวกับอวกาศได้ โดยแนวคิดของ Hyperloop ได้ถูกปล่อยให้เป็น Open Source ที่ให้บุคคลทั่วไปดูแนวคิดและพัฒนาต่อได้

แนวคิดของการเดินทางความเร็วสูง ในปัจจุบันมีการใช้เครื่องบิน, รถไฟความเร็วสูง, หรือรถไฟ Maglev แต่ด้วยแนวคิดของ Hyperloop เป็นการคิดใหม่โดยประยุกต์หลักการของท่อลมในการจัดส่งเอกสารตามสำนักงาน รวมกับรถไฟฟ้าแบบยกตัวจากผิวทาง (Maglev) ซึ่งแนวคิดในการออกแบบจะทำให้ตัวรถมีความเร็วสูงสุดได้ถึง 1200 km/h เลยทีเดียว

หลักการออกแบบตัวรถของ Hyperloop เป็นการเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงเสียดทานในทุกด้าน เพราะรถไฟความเร็วสูงที่ยังใช้ล้อและราง ก็ยังเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มขีดจำกัดของความเร็วอยู่ดี ดังนั้น การออกแบบจึงใช้แนวคิดของรถไฟฟ้า Maglev ที่ตัวรถไม่ได้ติดอยู่กับพื้นราง โดยใช้แรงดันอากาศผลักดันให้ตัวพาหนะลอยตัวได้อยู่บนผิวราง

การขับเคลื่อน Hyperloop ใช้ความต่างของแรงกดอากาศ ซึ่งการออกแบบจะใช้การปั๊มเอาอากาศที่อยู่ด้านหน้าตัวรถออก และนำไปปล่อยด้านหลังตัวพาหนะ ส่งผลให้สภาพด้านหน้าของตัวรถมีสภาวะแรงดันอากาศต่ำ ใกล้จะเป็นสุญญากาศ (ต่ำถึง 100 mBar จากปกติ 1013 mBar) ด้วย

Concept ห้องโดยสาร ประกอบด้วยปั๊มลมด้านหน้า, ห้องโดยสาร, และแบตเตอรี่ [Src: Wikipedia]

กลไกดังกล่าวจะทำให้ตัวรถเกิดแรงผลักจากด้านหลัง ด้วยความเร็วที่สูงมาก ในการควบคุมให้เกิดการขับเคลื่อนที่ต่อเนื่อง ตัวรถจะติดปั๊มลมที่ทำหน้าที่ดูดอากาศจากหน้าตัวรถไปปล่อยด้านหลังตัวรถให้ได้ตลอดเวลา

ความพยายามสร้างต้นแบบของ Hyperloop ได้เริ่มเตรียมการในช่วงปี 2015 และจะถูกสร้างเป็นระยะทางสั้นๆ รวม 8km ในช่วงปี 2016 นี้ และการทดสอบก็จะมีขึ้นเพื่อดูผลกระทบที่เกิดจากการใช้งานจริงๆ

งานรอก่อสร้าง Hypeloop. Apex Industrial Park, North Las Vegas, Nevada.
ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ Hyperloop จะต้องถูกทดสอบและตั้งคำถามมากมาย เพราะการทำงานของระบบการขับเคลื่อนที่มีเสียงดังจากเครื่องอัดอากาศที่ต้องไหลผ่านตัวรถด้วยความเร็วสูง, ขนาดของตัวรถที่คับแคบ, ความร้อนที่เกิดจากการขับเคลื่อนที่ไปเพิ่มอุณหภูมิในตัวรถอีกราว 17-20 องศาเซลเซียส ซึ่งปัจจัยทางเทคนิคเหล่านั้น ไม่รวมถึงการเดินทางในระยะเวลาหนึ่งแล้วผู้โดยสารต้องเข้าห้องน้ำ หรือมีเหตุฉุกเฉินบางอย่างที่ต้องได้รับการดูแล อีกทั้งการอพยพกรณีเกิดปัญหาระหว่างการเดินทาง จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันอีกมาก

Hyperloop จึงเป็นความฝันของวันนี้ไปก่อน และการต่อยอดของผู้พัฒนาจากหลายฝ่าย ความสำเร็จคงจะตกอยู่ที่แผ่นดินอเมริกาก่อนเป็นเจ้าแรก และเปลี่ยนแนวคิดของการเดินทางด้วยความเร็วสูงตลอดไป

Narrated by Tiwakorn Laophulsuk

No comments:

Post a Comment

Give a comment ...