24 January 2014

รถไฟไทย วิ่งเร็วอย่างเดียวไม่พอ

Thailand railway
[Image from goawaygarage.blogspot.com]
เสียงเอี๊ยดแสบแก้วหูนานหลายวินาทีที่เกิดจากเหล็กเสียดสีกัน เสียงประกาศที่แหบพร่าซึ่งให้แค่พอเดาได้ว่าพูดถึงชื่อสถานีปัจจุบัน ผู้คนที่ชานชลาที่หนาแน่นต่างกุลีกุจอหยิบข้าวของทั้งเป้ และกล่องกระดาษที่พันด้วยเชือกฟางอีกหลายกล่องหิ้วกันพะรุงพะรัง เมื่อถึงคิวที่่ต้องขึ้นรถจะต้องก้าวยาวๆสูงประมาณเอวของเราพร้อมกับโหนเหล็กราวจับเพื่อจะขึ้นรถ ถ้าเคราะห์ดีกระเป๋าไม่ใหญ่เกินไปก็จะสามารถเอาเข้ามาด้วยได้ เมื่อจะเดินไปยังที่นั่งจะต้องได้กลิ่นห้องน้ำตลบอบอวลก่อนที่จะเห็นหมายเลขที่นั่ง พร้อมกับเปลือกถั่วที่ตกเกลื่อนกระจายที่พื้น สำหรับผู้ที่โชคร้ายคุณก็อาจจะไม่สามารถเปิดหน้าต่างเพื่อชมวิวภายนอกได้ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทุกคนจะต้องเห็นเมื่อเดินทางโดยรถไฟไทย

เมื่อขบวนรถออกจากชานชลา หากรู้สึกเหมือนมีน้ำฝนเม็ดเล็กๆกระเซ็นเปียกแขนแล้วล่ะก็ คุณนั่งใต้ลมและอยู่ใกล้ห้องน้ำมากเกินไป แนะนำให้ถอยห่างจากหน้าต่างสักนิด หรือเปลี่ยนไปเป็นที่นั่งฝั่งอื่นแทน

แต่ข้อดีของการขึ้นรถไฟมีราคาถูกเหลือเชื่อมเมื่อเทียบกับระยะทาง เราสามารถเดินทางจากหัวลำโพงไปยัง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ที่มีระยะทาง 50 กิโลเมตรได้ด้วยราคาเพียง 8 บาท แม้ว่าจะใช้ระยะเวลานานและความเร็วเฉลี่ย (รวมจอดสถานี) ประมาณ 35-40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อรับประกันว่าปลอดภัยหายห่วง

สิ่งต่างๆเหล่านี้มีบรรยากาศเช่นที่ว่ามาแล้วกว่า 30 ปี ซึ่งความเป็นจริงคงเป็นแบบนี้มานานกว่านั้น เพียงแต่คนเขียน Blog แห่งนี้เกิดมาไม่ทันเห็นบรรยากาศก่อนหน้า และในวันที่เราจะต้องเข้าสู่การเชื่อมโยงธุรกิจ และสังคมกับโลก จึงเกิดข้อเปรียบเทียบทันทีว่าเราหยุดอยู่กับที่มาแล้วนานแค่ไหน การเปรียบเปรยนี้เป็นแค่เรื่องระบบการเดินทาง ถ้าหากไปขุดคุ้ยประเด็นเรื่องน้ำในห้องน้ำกระเด็นใส่ก็จะยังมีเรื่องสุขอนามัย, สิ่งแวดล้อม, ความตรงต่อเวลาในการเดินรถ, ปัญหาราคาสินค้าและมาเฟียตามสถานีต่างๆ ก็คงจะมีอีกมากมายหลายเรื่อง

การขนส่งระบบราง เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง ถ้าเราใช้อย่างเต็มที่เช่นประเทศอื่น ระบบขนส่งโดยรางจะเป็นการขนส่งหลักที่ไม่มีระบบอื่นสามารถทดแทนแบบง่ายๆ อีกทั้งการขนส่งปริมาณมากๆ เป็นการช่วยแชร์การใช้ทรัพยากรด้านพลังงานที่ดีขึ้นมากอีกด้วย

Railtrack System Melbourne Australia
รถไฟไทยยังมีงานต้องทำอีกมาก ทุกเรื่องที่กล่าวมาความเร็วของรถเป็นแค่เหตุและปัจจัยเสริมเท่านั้น องค์กรเองแม้จะมีพนักงานอยู่มากมายที่เปลี่ยนแปลงยากเพราะมีขนาดใหญ่ การออกแบบระบบ Guage รางให้เข้ากันได้กับการเชื่อมโยงระบบรางไปยังประเทศอื่น, การเชื่อมโยงระบบขายตั๋วและชำระเงินให้รองรับกับความต้องการภายนอกที่มากขึ้น, และการแก้ไขปัญหาการเมืองที่อยู่ภายในองค์กรมาอย่างยาวนาน ถ้าไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะมีระบบรางที่ทำโดยเอกชนรายอื่นเกิดขึ้นมาคู่ขนานแทนก็อาจจะเป็นไปได้

Written by Tiwakorn Laophulsuk

No comments:

Post a Comment

Give a comment ...