13 December 2013

คิดจะมี Venture Captial ซักกอ อธิบายแบบชาวบ้าน

ถ้าคิดจะปลูกธุรกิจขึ้นมาซักกอ เกรงว่าหน่อลงทุนนั้นจะกลาย (ทำนองเพลงรุ่นเก่า) ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่การลงทุนธุรกิจใหม่นอกจากใจถึงแล้วยังต้องเงินถึงด้วย ซึ่งปัจจัยสำคัญด้านการเงินนี่เองเป็นสาเหตุให้ธุรกิจที่มีแนวคิดที่ดีจากหลายๆคนไม่สามารถเดินหน้าหรือโผล่เข้ามาในวงเวียนของการประกอบกิจการได้

ถ้าใครเคยได้ฟังข่าวอดีตนักการเมืองคนหนึ่งอยู่ที่ดูไบ พูดถึงการให้ธุรกิจใหญ่ หรือ Big firm ทำตัวเป็น Venture Capital เพื่อผลักดันธุรกิจรายเล็กให้เกิดขึ้นมาได้ แต่ ... Venture Capital เอาไว้ทำอะไรอ่ะ??

Venture Capital (VC) ก็คือผู้ลงทุนที่มีความสามารถในเรื่องตัวเงินทุน หรือมีสินทรัพย์ด้านเงินสดที่มีสภาพคล่องมากพอสำหรับการลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารธุรกิจใหม่เหล่านั้นด้วยตนเอง การลงทุนที่เกิดขึ้นจึงจะมอบให้เป็นหน้าที่การบริหารให้เป็นของ "เถ้าแก่ใหม่" ที่มีสามารถบริหารจัดการเต็มที่ โดยที่ VC จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นบางส่วนอยู่ห่างๆ ซึ่งถ้าธุรกิจนั้นๆลงทุนได้ผลกำไรดี ย่อมเป็นผลดีต่อ VC ในการได้เงินด้วยโดยไม่ต้องไปลงแรงเอง และรวมถึงผู้ทำธุรกิจใหม่ก็มีโอกาสในการใช้ความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องห่วงเงินทุน

ตัวอย่างเมืองไทยคงมีน้อย แต่คนไหนที่ได้ดูเรื่อง The Social Media ที่เล่าประวัติความเป็นมาของ Facebook คงเห็นจังหวะที่ผู้ก่อตั้ง Facebook ไปนั่งอธิบายเพื่อขอเงินลงทุน ซึ่งองค์กรผู้ที่เป็น VC ให้กับ Facebook คือ Accel Partners ที่ควักเงินจ่ายเพื่อให้เป็นทุนในการขยายกิจการ นั่นคือรูปแบบตัวอย่างของธุรกิจในการตามหาเงินทุนโดยการเอาแนวคิดไปล่านั่นเอง

แต่ความเสี่ยงของ VC นั้นคงตัดทิ้งไม่ได้ เพราะการลงทุนทุกครั้งย่อมมีความเสี่ยง ดังนั้นตัว VC เองจึงต้องออกแบบให้มีความสามารถในการพิจารณาถึงผลที่จะเกิดจากการลงทุน หลายครั้งที่ลงทุนไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งตัว VC นั้นจะสามารถยอมรับความเสี่ยงได้อยู่ประมาณหนึ่ง เช่น ลงทุนไป 5 ธุรกิจ แล้วเจ๊งไปซะ 4 ส่วนอีกอันหนึ่งได้กำไร ถ้าแบบนี้ก็ถือว่าพอคุ้มค่า

การเป็น VC ที่แท้จริง จะไม่ได้ขโมยเอาธุรกิจที่เขาเสนอมาเป็นขององค์กรตนเอง ความคาดหวังของ VC เป็นเพียงการได้ถือหุ้นในบริษัทใหม่เพื่อให้ได้เป็นกำไร โดยกำไรที่ได้รับมาก็จะกลับมาอยู่ในกองเงินลงทุนต่อไปอีก ดังนั้น VC จึงต้องการขยายตัวทางด้านเงินทุนมากกว่าการจะได้เป็นเจ้าของกิจการ

แต่ VC ที่ทำตัวเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือกับธุรกิจ หรือไปร่วมหัวจมท้ายด้วย เราจะเรียก VC ประเภทนี้ว่า Business Angle (BA) ซึ่งโดยมากแล้วก็จะเป็นการเข้าถือหุ้นและช่วยบริหารในเบื้องหลัง หรือการทำตัวเป็นผู้ให้คำแนะนำ (Mentors) เมื่อตัวธุรกิจประสบความสำเร็จแล้วก็จะให้เป็นผลงานของผู้สร้างสรรค์ ส่วนตัว BA เองก็จะกระโดดออกเพื่อไปเป็น VC หรือ BA ให้ที่อื่นต่อไปได้

สำหรับในไทยเอง แนวคิดนี้ไม่ถือว่าใหม่ เพราะมีหลายองค์กรในรูปแบบเอกชนก็กำลังบริหารกิจการในรูปแบบของ VC อยู่มาก การมีองค์กรที่ทำตัวเป็น VC จะเป็นการช่วยเปิดให้ธุรกิจใหม่มีโอากาสเข้ามาแข่งขันและแสดงศักยภาพของแนวคิดว่าสามารถถีบตนเองขึ้นไปอย่ในระดับบนได้เร็วแค่ไหน อีกทั้งตัว VC เป็นกลุ่มองค์กรที่กล้ายอมรับความเสี่ยงเพื่อเปิดรับกับแนวความคิดใหม่ ซึ่งแตกต่างจากสถาบันการเงินที่มักจะไม่ปล่อยเงินให้กับกลุ่มแนวคิดใหม่เหล่านี้เพราะอยู่นอกกรอบการพิจารณา

แต่วันนี้บรรดาเหล่า VC ก็ยังรอเด็กใหม่ที่จะโตขึ้นโดยซักวันน่าจะมีธุรกิจที่ VC สามารถอ้างอิงได้ว่า เขาเป็นผู้ลงทุนเพื่อเปลี่ยนแนวคิดที่คนรุ่นใหม่ฝันให้กลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้จริง

Written by Tiwakorn Laophulsuk

No comments:

Post a Comment

Give a comment ...