๒. ผลการประชุมฯ
๒.๑ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้หัวข้อ China-ASEAN Workshop on ICT Drives Transformation of Traditional Industry ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ ณ เมืองซีอาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อให้ความรู้และยกระดับประสิทธิภาพบุคลากรให้กับอาเซียน โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งผู้แทน ทก. ที่เข้าร่วมประชุมฯ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการ จาก SIPA และนักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ จาก สป.ทก.
๒.๒ ความรู้ที่ผู้เชี่ยวชาญของจีนนำเสนอนั้น แบ่งเป็น ๒ หัวข้อหลัก คือ Next Generation Information Technology and Application และ Next Information Technology - Driver to the Future สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
๑) Next Generation Information Technology and Application:
- นำเสนอการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Cloud Computing ในจีน โดยกล่าวถึงมาตรการและยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Cloud Computing ซึ่งเริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ ซึ่งรัฐบาลกลางและรัฐบาลส่วนท้องถิ่นอย่างเช่น มณฑลส่านซี ได้จัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงข่ายให้ครอบคลุมโดยเน้นที่หัวเมืองใหญ่ พร้อมเชื่อมต่อไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้เทคโนโลยีของบริษัทต่างๆ ภายในประเทศจีนให้เกิดการใช้ระบบ Cloud Computing ในการจัดเก็บข้อมูล ประมวลผล และติดต่อลูกค้า เป็นต้น
- Internet of Things (IoT) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ ตู้เย็น โทรทัศน์ และอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน โดยเครื่องมือต่างๆ จะสามารถเชื่อมโยงและสื่อสารกันได้โดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต แต่ก่อนที่ IoT จะเป็นจริงขึ้นมานั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ ก่อน เช่น ระบบตรวจจับ (sensors) รูปแบบการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ และระบบฝังตัวคอมพิวเตอร์ จึงอาจกล่าวได้ว่า Internet of Things สามารถนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคม เป็นการยกระดับจากสังคมออนไลน์ หรือที่เรียกกันว่า E-society ให้กลายเป็นสังคมที่สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ทุกหนทุกแห่งอย่างแท้จริง หรือ U Society (Ubiquitous society) พร้อมกันนี้ ได้ยกตัวอย่างการนำใช้ประโยชน์ของ Internet of Things เช่น บ้านอัจฉริยะ (Home Intelligence) ที่ให้เราสามารถควบคุม ตรวจสอบ หรือตั้งการทำงานอย่างอัตโนมัติ, ระบบ Mobile payment ที่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือแทนการชำระเงินค่าบริการต่างๆ, การควบคุมจัดการจากระยะไกล และแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการบอกตำแหน่งและรายละเอียดของสถานที่นั้นๆ หรือตัวอย่างการใช้ตัวเซนต์เซอร์ (sensors) มาปรับใช้ในด้านเกษตรกรรมและการเตือนภัยทางธรรมชาติ เป็นต้น
- การส่งเสริมการบูรณาการข้อมูลสารสนเทศของภาคอุตสาหกรรม กรณีศึกษาจาก China Telecom ซึ่งเป็นกิจการด้านโทรคมนาคมที่สำคัญในอันดับต้นๆ ของจีน ที่เริ่มต้นจากการให้บริการสื่อสารธรรมดา (โทรศัพท์พื้นฐาน) เป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เต็มรูปแบบ มีการพัฒนาการส่งสัญญาณที่ครอบคลุมทั้งผ่านทางสาย Fiber , Mobile และดาวเทียม และการวางโครงข่ายระดับโลก โดยวาง Backbone ในจุดต่างๆ ครอบคลุมภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค และจัดทำโครงการ Broadband China, Fibre Cities ในเมืองใหญ่ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2015 นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์สำคัญๆ เพื่อให้บริการต่อภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม เช่น E-Taxation , E-City Management, E-logistic, Sale Force Automation ระบบการขายที่เชื่อมโยงกับระบบ ERP ได้ เป็นต้น
- นำเสนอเทคโนโลยีด้านวิทยุสื่อสาร ซึ่งได้มีการพัฒนาอุปกรณ์และซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการคลื่นความถี่ โดยเน้นที่ย่านความถี่ HF (High frequency) และ VHF (Very high frequency) ซึ่งจากการวิจัยและพัฒนาทำให้สามารถส่งสัญญาณได้ทั้งภาพและเสียง และสื่อสารได้ในระยะไกลขึ้น พร้อมยกตัวอย่างอุปกรณ์วิทยุสื่อสารที่ใช้ระบบ Wireless ความเร็วสูง มีการเข้ารหัสในระหว่างการส่งข้อมูล ซึ่งได้นำมาใช้เป็นอุปกรณ์ในรถตำรวจ เป็นต้น
- กล่าวถึงการให้บริการเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายความเร็วสูง 4G ของ China Mobile Group Shaanxi Co., Ltd (หรือ CMCC Shaanxi) โดยเริ่มจากการทดแทนการเดินสายสัญญาณที่สิ้นเปลืองงบประมาณ จึงเปลี่ยนมาเป็นการตั้งสถานี IP Backbone เพื่อเชื่อมโยงสถานีฐาน และยังเป็นการลดค่าใช้จ่าย การเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเลือกรูปแบบการใช้บริการได้ตามความต้องการ
- กล่าวถึงเทคโนโลยี TD-LTE ประโยชน์ และรูปแบบเครือข่ายการสื่อสาร ซึ่ง China Mobile ริเริ่มการลงทุนและจัดตั้งเครือข่ายนำร่อง 4G Technology TD-LTE โดยจะมีสถานีฐานต่างๆ ใน ๖ เมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครหนานจิง เมืองเซี่ยเหมิน นครกว่างโจวเเละเมืองเซินเจิ้น ซึ่งจะให้ความเร็วในการสื่อสารมากกว่าแบบ 3G ถึง ๑๐ เท่า นั่นก็หมายความว่า Smartphone ที่ใช้กันอยู่จะสามารถส่งข้อมูลได้เหมือนคอมพิวเตอร์พีซี ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิตอลได้อย่างสะดวกสบาย หลากหลายรูปแบบและภาพชัดเจนเสมือนดูทีวี
๓. ผลลัพธ์จากการประชุม
จากการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ทำให้เห็นตัวอย่างผลสำเร็จของส่งเสริมและการพัฒนาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของจีน ที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านการวางระบบการจัดการ การควบคุมการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อประสานงาน การพัฒนาวิจัยนวัตกรรมของเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่ออำนวยสะดวกแก่ผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเร่งพัฒนาโครงข่ายบอร์ดแบนด์ของประเทศไทย การพัฒนาเครือข่ายมือถือ ที่ทำให้มีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจ (Business Model) แบบใหม่ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนผลักดันกระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศของประเทศ
Written by Narumol Panmadee
No comments:
Post a Comment
Give a comment ...