The ASEAN Countries |
ในบริบทหนึ่งหากมองมุมกลับในสายตานักธุรกิจต่างประเทศ การลงทุนในประเทศไทย เป็นเหมือนการมาลงทุนในพื้นที่มืดๆ แคบๆ อ่านตรงนี้แล้วก็อาจจะไม่เข้าใจ เพียงแค่อยากจะบอกให้ฟังถึงกฎกติกาบางอย่างด้านการเงินระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเองไม่ได้อยู่ในข่ายที่คนต่างชาติจะมาลงทุนได้สะดวกนัก ซึ่งตรงนี้พอจะเล่าให้ฟังได้เพราะมีโอกาสได้ช่วยงานเรื่องสัญญาของบริษัทฯ ที่ทำกับต่างประเทศ จึงได้ถึงบางอ้อในหลายเรื่องถึงปัญหาและอุปสรรค
เริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ แค่การเคลื่อนย้ายเงินระหว่างประเทศ เป็นการง่ายมากที่ประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน, ฮ่องกง, อังกฤษ, อเมริกา สามารถทำเรื่องโอนเงินได้โดยตรงจากบัญชีต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยได้เลย อาจจะมีเรื่อง Limit นิดหน่อย แต่ด้วยวิธีการที่ไม่ยุ่งยากก็โอนได้หลายแสนแล้ว ถ้าต้องการเพิ่มยอดการโอนก็เพียงแค่ไปแจ้งสถาบันการเงินเพิ่มเติมถึงวัตถุประสงค์แค่นั้น จากนั้นก็จ่ายค่าธรรมเนียมการโอนก็เป็นอันเสร็จพิธี
สำหรับประเทศไทย การโอนเงินออกจะยุ่งยากพอควรสำหรับบุคคลธรรมดา เนื่องจากระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งขอบเขตจำนวนเงินสูงสุดที่จะโอนได้โดยผ่านการยื่นคำร้องที่สถาบันการเงิน แต่ถ้าไม่ทำเรื่องกับธนาคาร การโอนเงินทั่วไปก็อยู่แค่ไม่กี่หมื่นบาทต่อครั้ง
กรณีเป็นนิติบุคคล การจะโอนไปต่างประเทศนั้น อาจจะดูซับซ้อนน้อยกว่า เพราะการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้า สามารถนำเอกสารใบเรียกเก็บเงินทางการค้า (Commercial Invoice) ไปที่ธนาคารเพื่อทำการชำระเงินได้เลย แต่ถ้าไม่ทำอย่างงั้น การโอนเงินลอยๆอาจจะจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย สูงถึง 15% ไม่เช่นนั้นแล้วจะผิดฎีกาของสรรพากร
ดังนั้น หากเป็นการลงทุนด้านบริการ และธุรกิจได้รับกำไร จึงเป็นการยากที่นักธุรกิจต่างชาติจะสามารถดึงยอดกำไรออกไปใช้ได้ จำใจต้องยอมให้เกิดการหมุนเวียนในประเทศไทยไปต่อ มองในฐานะคนไทยก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะเงินไม่ไหลออกนอกประเทศ และในทางกลับกัน ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต่างชาติเขาก็ไม่อยากมาคบค้าสมาคมด้วย (ถ้าไม่จำเป็นในเชิงการเมือง)
นิติบุคคล ในกรณีการเลี่ยงหรือลดภาษีกรณีต่างชาติมาลงทุน ต้องศึกษาอย่างหนักใน 2 ช่องทาง อย่างแรกคือการเข้า BOI ซึ่งต้องมีการถูกตรวจสอบอย่างหนัก และต้องมีจำนวนเม็ดเงินลงทุนถึงเป้า จึงจะสามารถได้รับสิทธิ BOI อีกทั้งต้องมีผลประกอบการเข้าตากรรมการอีก ไม่เช่นนนั้นก็จะถูกถอนสิทธิ
อีกวิธีคือ ศึกษากลไกของอนุสัญญาภาษีซ้อน (Double Taxation Treaties หรือ Double Taxation avoidance treaties: DTAs) ที่อนุญาตให้กำไรจากธุรกิจในบางเรื่อง สามารถลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้ ซึ่งอาจจะต่ำลงไปถึง 5% แต่ก็ต้องดูเจาะไปถึงรายละเอียดที่ลดหย่อนได้ และอนุสัญญาจะแตกต่างกันในแต่ละประเทศ
แน่นอนที่สุดด้วยความเป็นคนไทย ก็ย่อมเห็นผลประโยชน์จากกฎระเบียบ ที่พยายามห้ามปรามการเอาเงินออกนอกประเทศ แต่ในมุมเดียวกัน การเข้า AEC จะทำไปให้เหนื่อยทำไม เมื่อเราตั้งกฎเกณฑ์หนาแน่นเพื่อสร้างความยากลำบากให้กับนักลงทุน
Written by Tiwakorn Laophulsuk
ข้อมูลใดมีความผิดเพี้ยนไป ต้องขอความกรุณาช่วย Comment เพื่อไปปรับปรุงครับ
No comments:
Post a Comment
Give a comment ...