Cyber Oasis Group Original logo since 2003 |
แนวคิดเก่าๆ ห้ามลงทุนทำธุรกิจกับเพื่อน จริงหรือ?
คำพูดนี้ ไม่เป็นความจริงเลย สำหรับคนที่อยากจะเปิดธุรกิจทำกับเพื่อน ถ้าถามกลับว่า "ถ้าทำงานโดยไม่รู้นิสัยกันแล้ว ไม่เชื่อใจเพื่อน แล้วจะเชื่อใจใคร" ไม่แปลกที่ผู้ใหญ่รุ่นเกิดปี พ.ศ.2480 - 2500 หรือผู้ที่ทำอาชีพราชการอาจจะเชื่อแบบนี้ เพราะเขาอาจจะเห็นความล้มเหลวของคนรุ่นเดียวกันมาก่อน แต่โลกทุกวันนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบไปในเรื่องของธุรกิจ เพราะถ้าเราไม่กล้าหาญในการเดินธุรกิจให้ตัวเอง ก็ต้องยอมเป็นลูกจ้างหรือพนักงานบริษัทไปตลอด ในส่วนตัวผมเองเชื่อว่ามีไม่กี่คนหรอกที่จะได้รับธุรกิจสืบทอดจากจากบรรพชน สามารถสืบสานรายได้ต่อเองโดยอัตโนมัติ จึงขอเริ่มโดยตั้งคำถามเป็นคำนำของเรื่องราวนี้ไว้ครับ
The Take Over
บริษัท CO เริ่มจากบริษัทเดิม คือ SG Cyber System Co.,Ltd. (ปัจจุบัน SG Cyber System เปลี่ยนชื่อแล้วเป็น Blue Dolphin IT Co.,Ltd.) ให้บริการติดตั้งเครือข่ายตามหอพัก และร้านอินเตอร์เน็ตข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาหลายปี ซึ่งในช่วงนั้น การแข่งขันและการลงทุนเริ่มมีมากขึ้น และกระแสเงินสดหมุนเวียนของพื้นที่นั้นถือว่ามีปัญหาพอสมควร เพราะได้กำไรช้า ค่าเช่าแพง ค่าแรงสูง นักบินลิขสิทธิ์รีดไถ แต่จะไปเก็บเงินลูกค้าหนักมากก็ไม่ได้เพราะเป็นนักศึกษา บริษัท SG จึงมีแนวคิดจะยุติการให้บริการในพื้นที่ธรรมศาสตร์ทั้งหมดโดยจะขายกิจการออกให้คนอื่นแทน
ด้วยการตัดสินใจนั้น ผมและเพื่อน Marketting คนหนึ่งโดยคุณตี๋ (นามสมมติ ต่อไปจะเรียก MD นะ) พร้อมกับทีมที่ทำงานเดิมบางส่วนเห็นว่า พื้นที่นั้นน่าจะแก้ไขปัญหาได้ ถ้าสามารถบริหารต้นทุน และการแก้ไขปัญหาการบริการของพนักงานที่ทำงาน โดยเปลี่ยนเอาพนักงานที่มีปัญหาเยอะๆออก และให้พนักงานที่พอเข้าใจวิธีคิดแก้ปัญหากับทีมเราขึ้นเป็นหัวหน้าแทน โดยบางคนเราก็ไล่ออกซึ่งๆหน้าก็มี การเปลี่ยนแปลงช่วงนั้นก็พบปัญหาหลายอย่าง มีตั้งแต่การเปลี่ยนโอนสัญญาเช่า, เปลี่ยนแปลงสัญญาการจ้างงาน, เริ่มนำร่องลงทุนบางส่วนเพื่อเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มหุ้นเดิม ต้องทำทั้งหมดเพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างส่วนใหญ่ และจัดตั้งเป็นบริษัท Cyber Oasis ขึ้นมา ซึ่งชื่อนี้ ได้มากจากร้านอินเตอร์เน็ตที่กลุ่มทุนชุดเดิมตั้งชื่อเอาไว้
Cyber Oasis Co.,Ltd. Used logo after taken over on 2005 |
การ Take Over ทำให้บรรยากาศระหว่าง 2 ฝ่ายคือบริษัทฯเดิม กับทีมเราไม่ค่อยดีนัก เพื่อให้มีความเหมาะสมตัวเราเองและทีมที่ Take Over ก็ต้องขอลาออกจาก SG เพื่อมาทำงานกับ CO แต่ก็ยังมีข้อพิพาทหลายเรื่อง เช่น ราคาขาย Asset ที่ SG ให้กับ CO ต่ำไปบ้าง, ไม่ก็ปัญหาค่ามัดจำห้องเช่าบ้าง, รวมไปถึงพนักงานเดิมบางคนที่ไม่ได้ต่ออายุการจ้างงานบางส่วนก็กลับไปโวยวายกับบริษัทเก่าหรือประกันสังคม ช่วงนั้นเราก็รู้สึกไม่ดีที่ทำให้เกิดปัญหากับ SG พอสมควร แต่ในที่สุดก็ค่อยๆตกลงแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องๆไปได้ และพนักงานเดิมทั้งหมด 8 คน มีเพียง 2 คนที่เราให้ออกไป ส่วนที่เหลือเราก็ให้ทำงานต่อ
Re-Engineering Process
การปรับเปลี่ยนการให้บริการ ในทีมเราและ MD มีตั้งแต่ การกู้เงินเข้ามาเพิ่มทันที จำนวน 1,000,000 บาท แต่ด้วยการที่เราหาดอกเบี้ยได้ถูกแค่ 3% แบบคงที่ซึ่งผู้ใหญ่อนุเคราะห์ให้มา อีกทั้งเงินกู้เป็นการขอรับชำระดอกเบี้ยรูปแบบพิเศษคือ ให้คืนทั้งต้นและดอกเบี้ยบางส่วนเลยในปีถัดไปโดยไม่ผ่อนชำระเป็นรายเดือน ก็ช่วยให้บรรยากาศการกู้เงินไม่น่าเป็นห่วงนัก จากนั้นได้นำไปลงทุนในการเปิดร้านอินเตอร์เน็ตเพิ่ม จากเดิมที่มี 3 สาขา ให้กลายเป็น 7 สาขา มีการลงทุนหอพักใหม่อีก 3 หอพัก ซึ่งทั้งหมดใช้เงินกู้ไปทั้งหมดเกลี้ยง ซึ่งเราเองและ MD ได้วางกรอบด้าน Cash flow กันในรายละเอียดต่างๆ เป็นภาพมุมสูงก่อนเริ่ม kick-start แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องควักเพิ่มกันอีกบางส่วน รวมทั้งหมดแล้วใช้เงินไปราวๆ 2,800,000 บาท รวมเงินกู้ด้วย
Cyber Oasis Data Network Diagram. The system services more than 1,000 concurrent users with maximum to 2,500 subscriber |
Good Outcomes
จากการลงทุนและการปรับรูปแบบการให้บริการ ช่วยให้มีรายรับเพิ่มขึ้นมาก รวมไปถึงการย้ายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงนั้น ที่ทำให้วิทยาเขตรังสิตมีนักศึกษาเพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดยในแต่ละเดือน มีรายรับเข้ามาสูงถึง 200,000 - 250,000 บาท ซึ่งถ้าดูเผินๆแล้ว ใช้เวลาไม่นานก็คงคืนทุน ถ้ามองยาวไปอีก 2 ปี ก็น่าจะครอบคลุมการลงทุนของผู้ถือหุ้นด้วย ในช่วงนี้สำหรับผมคือจุดสูงสุดของ CO ที่มีในตอนนั้น
Cyberoasis Cafe Branch 1 after re-engineering |
จากเนื้องานที่ค่อยๆเพิ่มขึ้น ตัวกรรมการเอง ก็ต้องมีการกระจายการบริหารจัดการ ซึ่งเราตกลงกันว่า ให้ MD และแฟน เป็นผู้จัดการในเรื่องการเงินและภาษีนิติบุคคล ตัวผมเป็น Network Engineer และงานด้าน Services กับเพื่อนอีกคนที่เข้ามา join ด้วย เริ่มมีการกำหนดฐานเงินเดือน ซึ่งในตอนนั้นเราเองก็ไม่ได้มั่นใจในเรื่องการจัดการเงิน ก็ได้แค่สบายใจว่าอย่างน้อยถ้าเรื่องการเงินมีปัญหาก็ยังพอมีคนดูแลอยู่ นับตั้งแต่ตอนนั้นตัวผมเองจึงไม่ได้ดูงบการเงิน หรือแม้แต่บัญชีรายรับ-รายจ่ายเลย ซึ่งได้แค่หวังว่าถ้ามีปัญหาอะไรตัวกรรมการเองก็น่าจะคุยกันได้
ส่วนตัวผมเองเห็นว่า การแบ่งหน้าที่ทำงานในแต่ละส่วนนั้น เป็นขั้นตอนที่ทำได้ถูกต้องแล้วในเวลานั้น แต่กระบวนการสื่อสารระหว่างกันเองต่างหากที่ทำให้ปัญหาเริ่มเกิดขึ้น เพราะในหลังจากนั้นตัวกรรมการอื่นๆ ก็ไม่ทราบและไม่รับรู้ในเรื่องรายได้อีกเลย
Stall Catalyst
ช่วงนั้นเป็นกลางปี 2006 ทาง MD และผู้ช่วย ได้มาบอกในการประชุมย่อยว่า ทางผู้หลักผู้ใหญ่ของทางบ้านที่เป็นผู้สนับสนุนเงินลงทุน เห็นว่ารายได้ของกรรมการมีน้อยเกินไป และเสนอให้มีการปรับฐานเงินเดือนทุกคน ซึ่งในช่วงนั้นตัวผมเองก็ไม่ได้ดูข้อมูลมากนัก เพราะติดเรียนปริญญาโทและทำในส่วนของระบบ จึงได้แค่พูดคุยว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรถ้าสามารถคืนเงินกู้และบริหารค่าใช้จ่ายพื้นฐานและคงมีกำไรอยู่บ้างได้
ในสิ้นปีนั้นเอง ซึ่งเป็นช่วงระยะที่จะต้องพิจารณาบริหารการจ่ายเงินกู้คืน ผลปรากฎว่าไม่สามารถชำระคืนได้ตามที่ตั้งไว้ โดยทำได้แค่ชำระคืนบางส่วนประมาณ 400,000 บาท จากที่ตั้งไว้ว่าจะคืน 7 แสน หรือคืนหมดเลยตามที่คุยกัน ซึ่งเหตุการณ์นั้นทำให้ตัวผมเองเริ่มให้ความสนใจในการดูงบการเงินขึ้นมา แต่ ณ ตอนนั้นดูได้แค่ตัวเลขเงินเข้าออกในบัญชีเท่านั้น จึงได้ทราบว่า MD และผู้ช่วย ได้ปรับขึ้นเงินเดือนตนเองสูงมากจนแทบจะกลบกำไรหมด ข้อเสนอตอนนั้นผมจึงขอเสนอให้ระงับการจ่ายเงินเดือนกรรมการทุกคน (รวมตัวเอง) แต่โดนคัดค้าน ซึ่ง MD กลับไปใช้วิธีการให้เงินเดือนมีสถานะเป็นหนี้กับกรรมการไปก่อน เพราะทาง MD บอกว่า ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยเอาตำแหน่ง MD เป็นประกัน
Cyberoasis Cafe Branch 5th Open for 8 months before closing due to financial problems |
ปัญหาต่อเนื่องมาในปี 2007 โดยกรรมการก็ได้รับเงินเดือนบ้าง ไม่ได้บ้าง และผู้ให้กู้เงินปรับวิธีการชำระเงินคืนเป็นผ่อนชำระ ผมและเพื่อนจึงได้พยายามขอตรวจงบการเงินและการเสียภาษี แต่ก็เรียกข้อมูลไม่ได้โดย MD บอกว่า ข้อมูลอยู่ที่บริษัทรับจ้างทำบัญชี แต่จะตามข้อมูลมาให้ แต่ด้วยปัญหาการไม่จ่ายค่าตอบแทน และต้องทำวิทยานิพนธ์ รวมถึงการที่เราเป็นหุ้นเล็กเพียง 10% จึงได้แค่กำชับให้ MD และผู้ช่วยบริหารการเงินให้ได้ ถ้าจะปิดส่วนใดที่ขาดทุนก็ทำได้ หรือถ้ามีปัญหาอะไรก็ขอให้คุยกัน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นตัวเร่งให้บริษัทมีสถานะทางการเงินตกต่ำลงเร็วมาก
Self-Sqeeze and Downsizing
ผลกระทบจากหนี้สินต่อเนื่อง และการปิดบังงบการเงิน ผลกระทบหนักในช่วงปี 2008 โดยตั้งแต่กลางปี MD ได้เปลี่ยนระบบการจ่ายเงินเดือนพนักงานจากรายเดือนเป็นรายสัปดาห์ เพราะมีการจ่ายเงินเดือนล่าช้า มีการปิดบางร้านเพื่อดึงเอาเงินค่ามัดจำออกมา และทำการชำระหนี้เงินกู้ไปได้จนหมด ขนาดถึงวันนั้นตัวเราเองก็ยังของบการเงินมาดูไม่ได้ ในความเข้าใจตอนแรกคิดว่า เมื่อชำระเงินกู้ได้หมดปัญหาทุกอย่างน่าจะหมดไป แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในปลายปี 2008 มีพนักงานบางส่วนขอลาออกเนื่องจากการขาดส่งเงินเดือน และผู้ให้บริการวงจรเครือข่าย Fiber Optic ได้ขอตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตเนื่องจากค้างจ่าย โดยปัญหาต่างๆได้เกิดขึ้นรวดเร็วมาก
Fraud and Giving Up
จากการบังคับขอตรวจงบการเงิน ได้ข้อสรุปมาแค่คร่าวๆว่า MD ได้นำเงินของบริษัทบางส่วนออกไปทำธุรกรรมนอกกิจการโดยไม่ได้คุยกันภายใน โดย MD คาดไปเองว่าถ้าได้กำไรจะนำมาแก้ไขปัญหาหนี้สินของบริษัทฯ แต่ด้วยธุรกิจนั้นเกิดปัญหาและทำให้บริหารเงินสดไม่ทัน ในต้นปี 2009 ทาง MD แจ้งว่า จะไม่บริหารกิจการต่อ เนื่องจากงานที่ลงทุนภายนอกมีปัญหา ทำให้ไม่มีเวลาดูแลกิจการ จึงได้ส่งมอบบัตร ATM ที่ผูกกับบัญชีออมทรัพย์ พร้อมเงินสดคงเหลือในบัญชี 670 บาท โดยไม่ได้ส่งมอบสมุดบัญชี ซึ่งได้แค่บอกว่าหายไปนานแล้ว จากการที่บัญชีเป็นชื่อบัญชีร่วมทำให้เราตรวจสอบลำบากเหมือนกัน ผมจึงต้องจำใจปล่อยให้ตัวเลขเงินเงินสดต่างๆ อยู่ในสถานะคลุมเครือต่อ แต่ก็ต้องไปค้นหาความจริงเกี่ยวกับตัวเลข จากการติดตามในเชิงลึกทำให้พบว่า ยังมีค่าเช่า, เงินประกันสังคมที่ไม่ได้จ่าย, และตลอด 2 ปีที่เริ่มไว้ ไม่มีการชำระภาษีนิติบุคคลเลย รวมไปถึง VAT ที่ได้รับก็ไม่ได้นำไปรายงานและชำะภาษีด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ณ ขณะนั้น
Recovery
ณ ตอนนี้ถือว่าได้รับหน้าที่กู้สถานะทางการเงินของบริษัทที่มีหนี้สินหนักๆนั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เหนื่อยเอาการ นี่แค่บริษัทฯที่มีทุนจดทะเบียนแค่ 1 ล้านเองนะเนี่ย การแก้ไขที่ต้องเริ่มคือลงไปตรวจสอบตัวเลขในรายละเอียดของทุกๆหน่วยปฏิบัติงาน และตัดทิ้งส่วนที่ขาดทุนทั้งหมด (cut loss) การคืนพื้นที่เช่า ทำให้เราสามารถนำเงินมัดจำกลับมาหมุนเวียนได้, การเจรจาต่อรองขอผ่อนชำระหนี้ค้างจ่าย, รวมถึงต้องบริหารรายจ่ายและรายรับอย่างเข้มงวด ขนาดถึงระดับว่าโอนเงินมีค่าธรรมเนียม 35 บาท ก็ยอมจ่ายไม่ได้เลยทีเดียว
ต้องไปเจรจากับ MD เก่า เพื่อจะขอแสดงตัวเลขหนี้สินจริงที่ยังค้างอยู่ และถือเป็นข้อผิดพลาดในการบริหารจัดการของ MD และการเงินเดิมของยอดทั้งหมดก่อนที่เราเข้ามาแก้ไขปัญหา ซึ่งทาง MD เดิมก็ยอมรับเงื่อนไขและช่วยทยอยคืนในตัวเลขหนี้สินนั้น ส่วนตัวเราเองก็ต้องยอมควักจ่ายในบางเรื่อง เพื่อให้ปัญหาเฉพาะหน้าผ่านก่อนก็ถือว่ามีความจำเป็นที่ตำแหน่งกรรมการต้องรับผิดชอบ
Conclusion
นั่นคือจุดเปลี่ยนแปลงของบริษัท Cyber Oasis ที่เกิดขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน ตัวบริษัทได้อยู่ในสถานะไม่เคลื่อนไหวและนำส่งรายงานงบ Blank เพื่อรอปิดบริษัท แม้ว่าตอนนี้ตัวเราเองก็ยังไม่รู้ว่าหนี้ของภาษีนิติบุคคลเหลืออยู่เท่าไหร่ (เพราะ MD เดิม ไม่เปิดเผยตัวเลข) แต่ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบเดิมที่ต้องแก้ไขปัญหาไป
ข้อคิดสำหรับคนจะเปิดบริษัทใหม่ น่าจะได้ข้อคิดจากปัญหาที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
- ห้ามใช้วิธีคิดของมนุษย์เงินเดือน ที่ตั้งคำถามว่า "ทำมากไปแล้วได้อะไร เหนื่อยไปได้อะไร" ถ้าใจเรายังมีคำถามนี้ซ่อนอยู่ ห้ามทำบริษัทฯโดยเด็ดขาด
- เพื่อนร่วมงานที่จะเป็นกรรมการ ต้องมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อที่จะทำหน้าที่ช่วยกันได้ทั้งหมด โดยต้องมีความรู้ครบในด้านผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่องค์กรต้องทำตามยุทธศาสตร์ขององค์กร บวกกับคนที่มีความรู้ด้านการเงินและบัญชีควบคู่ไปด้วย
- ต้องโปร่งใสในตัวเลขทางการเงินสูงสุด การทำบริษัทบางช่วงเวลาไม่ได้มีแค่กำไรอย่างเดียว ทุกคนต้องเข้าใจสถานะขาดทุนด้วย และไม่ใช่ฝ่ายบัญชีและการเงินที่รับผิดชอบด้านการเงิน แต่หน้าที่ของแผนกนี้ นอกจากนำเงินเข้าออกให้ถูกต้องแล้ว ยังมีหน้าที่สื่อสารให้ทราบถึงสถานการณ์ทางการเงิน เพื่อให้กรรมการทั้งหมดรับทราบเพื่อร่วมคิดตัดสินใจ
- กำหนดมอบหมายให้ซักคนเป็น MD ต้องเป็นผู้ที่มีธรรมาภิบาล หรือคนในกลุ่มเห็นพ้องว่า สามารถตัดสินใจอย่างเป็นกลางและมีทิศทางที่ถูกต้องได้ ข้อนี้เป็นข้อที่ปฏิบัติยากที่สุด เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่าคนหนึ่งๆจะทำได้ดีแค่ไหน แต่เชื่อเถอะว่าการให้คนตัดสินใจมีจำนวนไม่กี่คนนั้น สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีกว่าร่วมกันตัดสินใจ
- จัดกลุ่มประชุมวงแคบๆ บ่อยๆ ในช่วง Start up เพราะการเปลี่ยนแปลง Process การทำงาน จะเกิดขึ้นตลอดเวลาเมื่อเริ่มทำธุรกิจ และในวันหนึ่ง Process จะไปถึงจุดสมดุลของมันเอง ผ่านการปรับปรุงร่วมกันของผู้ก่อตั้ง
- ถ้าตัวเราเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต้องกล้าที่จะยืนขึ้นและผลักดันให้เป็นไปในแนวทางนั้น โดยมีข้อมูลและเหตุผลที่ถูกต้อง การปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไปก่อนแล้วค่อยกลับมาแก้ไขนั้น มันเหมือนกับการประกอบแก้วที่แตกแล้วกลับมาใช้อีก ซึ่งเสียเวลาและความสัมพันธ์ขององค์กรจะไม่ดีเหมือนเดิม
- ระลึกไว้ว่า ถ้าตรรกะของการบริหารจัดการถูกต้อง อย่ากลัวว่าเราจะผิด อย่ากลัวว่าตัวเรามีความสามารถไม่พอ เพราะการกลัวที่จะไม่ทำอะไรนั้น จะเกิดความเสียหายต่อ "เวลา" ในวิธีคิดของผมเองในการทำบริษัทนั้นมีคำว่า "สายเกินไป" อยู่ในพจนานุกรม จงใช้สิทธิของความเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาทันที แม้ว่าตอนนั้นเราอาจจะถูกมอบหมายให้ทำงานส่วนอื่นอยู่ก็ตาม
Written by Tiwakorn Laophulsuk
30-Apr-2013
ผมพึ่งได้มีโอกาสได้มาอ่านบทความของพี่หลังจากผ่านมาแล้ว 5-6 ปี ขอบคุณสำหรับคำแนะนำของพี่ครับ ผมสามารถมีทุกวันนี้ได้เพราะพี่ครับ ขอบคุณมากๆครับ อ่านแล้วน้ำตาจะไหล คิดถึงพวกพี่จริงๆ
ReplyDeleteพี่จุ่นสุดยอด :D
ReplyDelete