ใจเย็นๆ ครับ บางครั้งบางคราว ร่างกายเราก็มิอาจทนต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวได้ ก็ย่อมจะแสดงความเจ็บป่วยออกมาทางร่างกาย อาจจะมากบ้าง น้อยบ้างก็แล้วแต่ความแข็งแรงของบุคคลนั้นๆ ในคอลัมน์นี้ก็จะได้มากล่าวถึง ปัญหาสุขภาพของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ และการถนอมร่างกาย เพื่อความสุขกาย สบายใจกันหน่อยดีกว่าครับ เราจะมาไล่หัวข้อกันว่า ตั้งคอมพ์ดีเป็นศรีแก่บ้าน แสงในบ้านนั้นก็เป็นสี ความสูงในการตั้งนั้นต้องพอดี นอกจากนี้ต้องประหยัดกันนะเออ (เขียนมากชักจะไปใหญ่ เชิญอ่านหัวข้อแรกก่อนครับ)
ตั้งคอมพ์ดี เป็นศรีแก่บ้าน
หัวข้อนี้ก็จะให้ความสำคัญของตำแหน่งที่จะไว้เป็นที่วางคอมพิวเตอร์ ที่ที่ควรจะวางนั้นก็ควรจะเป็นในห้อง สาเหตุที่อยู่ในห้องดีกว่านั้นก็เพื่อความเป็นส่วนตัว หรือ ปิดบังความรกอันเป็นคุณสมบัติประจำตัวนักคอมพิวเตอร์ จะเป็นแห่งใดนั้นก็แล้วแต่ในปรารถนา ข้อแนะนำก็คือ ควรจะเป็นห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ร้อนในเวลากลางวัน จะช่วยทำให้ผู้ใช้งานไม่รู้สึกอบอ้าว หรือเกิดความอึดอัดในระหว่างการใช้งาน และยังจะช่วยให้คอมพิวเตอร์จอมกินไฟระบายความร้อนออกมาได้ดีอีกด้วย ในกรณีที่เป็นห้องแอ(กี่)หรือห้องธรรมดาแบบไม่ปรับอากาศ ก็ควรจะมีพัดลมช่วย หรือถ้าเป็นห้องปรับอากาศก็จะช่วยป้องกันในเรื่องของฝุ่นละอองได้อีกทางหนึ่งครับ แต่สิ่งที่ต้องแลกด้วยก็คือ ผู้ที่ช่วยกินไฟ นั่นคือเครื่องปรับอากาศนั่นเอง
ในการใช้งานในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทดี นอกจากจะลดอาการปวดศรีษะอันเนื่องมาจากความร้อนแล้ว ยังช่วยทำให้ระบบทางเดินหายในเป็นไปตามปกติ ไม่ต้องสูดอากาศที่มีความชื้นสูงนัก ไม่มีอาการขาดน้ำ (ในกรณีที่เหงื่อออกมากๆ) เวลาร้อนจัด ลดอาการปากแห้ง ตาแห้ง ไม่ให้เราดูโทรมจนน่าเกลียดเวลาเราใช้งานนานๆ แต่ลมที่พัดไม่ควรพัดใส่นัยตาเวลาใช้งาน เพราะจะทำให้ตาแห้งมากเกินไปได้
การถ่ายเทอากาศสำหรับห้องปรับอากาศ ก็ควรจะเปิดพัดลมดูดอากาศออกบ้างในบางเวลา เพราะมนุษย์ต้องการอากาศมากถึง 2.5 ลูกบาศก์เมตร ในเวลา 24 ชั่วโมง ตั้งอุณหภูมิให้ในห้องไว้ในระดับที่ต่ำกว่าภายนอกประมาณ 10 องศาเซลเซียสในเขตร้อน เครื่องปรับอากาศจะช่วยดึงความชื้นออกไปจากห้องได้พอดีให้เรารู้สึกเย็นสบาย ไม่อึดอัด นอกจากนี้ ยังช่วยให้เราไม่เกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือจมูกแห้ง อันเนื่องมาจากความเย็นที่มากเกินไป ทำให้เราไม่เป็นหวัดจากอุณหภูมิที่แตกต่างกันมาก ที่สำคัญยังช่วยให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ด้วย
แสงในบ้านนั้นก็เป็นศรี
ในเรื่องของแสงสว่าง ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ในห้องควรจะมีแสงสว่างอย่างเพียงพอ อาจจะมาจากหลอดฟลูออเรสเซนส์ ติดที่เพดาน ส่องสว่างให้หน้าจอและคีย์บอร์ด จะเป็นการไม่เหมาะสมในการที่จอภาพหันด้านหลังให้กับแหล่งกำเนิดแสงสว่าง เช่น หน้าต่าง, หลอดไฟ เพราะจะทำให้ผู้ใช้แสบตา มองหน้าจอไม่สะดวก รวมทั้งยังต้องเพ่งหน้าจอเวลาใช้งานอีกด้วย อาจจะทำให้เกิดอาการปวดหัว, ปวดลูกตา อาจจะก่อให้เกิดอาการของโรคสายตาได้ในอนาคต
การเปิดไฟนั้นสำคัญที่ว่า เป็นการตัดแสงสว่างจากจอภาพไปส่วนหนึ่ง คือทำให้รูม่านตาไม่ขยายกว้างจนเกินไป และแสงจากหลอดไฟจะช่วยให้รูม่านตาเปิดกว้างในระดับที่สม่ำเสมอ ในกรณีที่แสงสว่างจากจอมีการตัดสีกันมาก หรือความมืดและสว่างสลับกันไปมาอันเกิดจากเกมในบางชนิด ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อดวงตาในระยะยาว สำหรับในเวลากลางคืนอาจจะใช้โคมไฟส่องสว่าง ส่องให้กับหน้าจอและคีย์บอร์ดแทนการเปิดไฟติดเพดาน เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้อื่น และในเวลากลางวัน ก็ควรจะเปิดรับแสงสว่างจากภายนอกเข้ามาแทนหลอดไฟบ้าง เพื่อเป็นการประหยัดอีกแล้วครับท่าน
ปรับแสงสว่างที่เกิดจากจอ ควรปรับค่าความสว่าง (Brightness) และความเหลื่อมล้ำของแสงสี (Contrast) ให้เหมาะสม คือ ดูสบายตา, ค่าความสว่าง (ที่แสดงด้วยสัญลักษณ์คล้ายๆพระอาทิตย์) จะเป็นการปรับปริมาณของความสว่างบนจอ ปรับจนกระทั่งมองแล้วไม่แสบตาจากความจ้าของแสงนั้น, และการปรับ Contrast จะเป็นการปรับความเหลื่อมล้ำของสี ควรปรับสีไม่ให้ตัดกันมากนัก การปรับสีที่เหมาะสมจะช่วยให้ดูนิ่มนวลสบายตา ไม่ก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะ อาเจียน (เกิดได้แบบการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง) ลดความเสี่ยงต่ออาการของคนตาบอดในวัยชรา
เครื่อง PC แบบ Desktop ที่นิยมใช้กันตามบ้าน หรือสำนักงาน สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อผู้ใช้ก็คือ ความสูงที่ไม่เหมาะสมกับผู้ใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าแสง และอากาศในบริเวณรอบๆเสียอีก สาเหตุก็เพราะการที่เรานั่งใช้งานเป็นเวลานานๆอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ อาจจะก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อย ปวดข้อ กล้ามเนื้อตึง อาการเกร็ง หรือถ้าการนั่งอย่างไม่ถูกลักษณะเป็นเวลานานๆเข้า ผลก็คือกระดูกสันหลังเสียรูปทรง ทำให้เวลายืนตรงจะเห็นว่ามีหลังค่อม หรือหลังคดได้ ถ้าถึงกรณีเช่นนี้ก็เรียกว่า หมดสวยมดหล่อกันไปข้างนึง
ความสูงในการตั้งนั้นต้องพอดี
ความสูงที่เหมาะสมต้องเริ่มจากเก้าอี้ เวลานั่งนั้น เท้าของผู้ใช้ไม่ควรจะลอยสูงจากพื้น หรือ ต้องให้เท้าสามารถวางถึงพื้นได้เกือบเต็มเท้า ถ้าเท้าลอยจะทำให้เลือดจากต้นขาไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้เกิดการเหน็บชาในระหว่างการนั่งทำงาน ที่พักแขนก็ควรจะให้อยู่ต่ำกว่าของโต๊ะมากหน่อย หรือ ไม่ต้องมีที่พักแขน เพราะถ้าเรานั่งหรือหมุนเก้าอี้ไม่ดี ผลเสียก็คือมือหรือนิ้วมือจะมีสีเขียวอันเนื่องมาจากแรงกระแทกกับของโต๊ะ อาจจะพิการได้ถ้ากระทบรุนแรง หากเก้าอี้มีความสูงไม่เหมาะสม การแก้ไขก็ทำโดยเลือกโต๊ะที่มีที่วางเท้าติดตั้งอยู่ด้วย หรือลดความสูงของเก้าอี้ลงไป ส่วนในเรื่องของโต๊ะวางคอมพิวเตอร์ ความสูงที่เหมาะสมก็ต้องเลือกจากความสูงของจอภาพคอมพิวเตอร์ที่จะนำมาวาง การวางความสูงของจอภาพที่ดี ขอบจอภาพด้านบนควรจะอยู่ในระดับสายตาพอดี ส่งผลให้ไม่ต้องก้ม-เงยมากเวลาพิมพ์งานเอกสาร หรือ ต้องเงยหน้ามองจอเป็นเวลานานๆ หากจออยู่ต่ำเกินไปก็ควรเลือกโต๊ะที่มีความสูงพอดี การใช้ case แบบ tower จะให้ผลดีกว่าเพราะเราสามารถวางจอภาพได้เหมาะสม และไม่ต้องวางจอบน case แบบเมื่อก่อน ผลพลอยได้ที่ดีกว่าคือ ถอดและยก case ซ่อมแซมได้ง่าย จากนั้น ก็มาดูทางด้านอุปกรณ์เสริม คือ mouse และ keyboard ควรตั้งให้ลึกเข้าไปจากโต๊ะให้พอวางท่อนแขนได้ ไม่เช่นนั้น จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยไหล่ หรือ ข้อมือเกร็งเวลานั่งพิมพ์งาน และผลจากการวาง keyboard ที่เหมาะสม ก็จะทำให้ระยะทางจากจอภาพเข้าที่ด้วย คือประมาณ 2 ฟุตเป็นอย่างน้อย และหันหน้าจอให้ตรงกับแนวการมองคีย์บอร์ด
การจัดความสูงและระยะต่างๆของคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม จะช่วยลดอาการตึงปวด หรือ ปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ และข้อต่างๆอย่างได้ผล ช่วยให้สรีระร่างกายดูเป็นปกติและงดงามอยู่เสมอ ดังนั้นเราก็ควรจะให้ความสนใจกับเรื่องของโต๊ะและเก้าอี้ที่ใช้ทำงานด้วย หรือ จัดซื้อชุดโต๊ะและเก้าอี้ที่ใช้สำหรับคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ เพราะให้ความสะดวกและความปลอดภัยกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ด้วยแล้ว ยังสามารถปรับระดับ และระยะต่างๆให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานนั้นๆ อีกด้วย หลักการเลือกซื้อชุดของโต๊ะวางคอมพิวเตอร์ ควรคำนึงถึงเนื้อที่การใช้งานด้วยอีกประการหนึ่ง นั่นคือเลือกชุดที่มีขนาดใหญ่พอประมาณ จะช่วยให้เราสามารถวางอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์ต่างๆ ได้มากขึ้น หรือช่วยป้องกันความเสียหายอันจะเกิดต่ออุปกรณ์ต่างๆด้วยแรงดึงดูดของโลก
นอกจากนี้ต้องประหยัดกันนะเออ (จบกลอน)
คอมพิวเตอร์แบบ desktop โดยทั่วๆไป ก็รับประทานไฟฟ้าขนาด 200-350 watt อาจจะทำให้ครอบครัวไทยยุค IMF ล่มจมได้หากเปิดแบบ burn in ทั้งวันทั้งคืน การ set ค่าต่างๆ ในหมวด power management ในแต่ละยี่ห้อของ mainboard เช่น การ park harddisk, การปิดจอภาพอัตโนมัติเมื่อไม่มีการใช้งาน จะช่วยให้อัตราการเผาผลาญพลังงานลดลงไปได้ส่วนหนึ่ง การใช้คำสั่ง suspend บนระบบปฏิบัติการ Windows เพื่อลดปริมาณของกระแสไฟฟ้าอันเกิดจากการประมวลผลของข้อมูล อนึ่ง ผู้ใช้เองก็อาจจะต้องทำการปิดสวิทช์ที่หน้าจอเองบ้างเป็นครั้งคราวเมื่อพักการใช้งานเป็นบางเวลา จะช่วยทำให้ลดปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ลดปริมาณความร้อน ถนอมอายุการใช้งานของจอภาพ และยังเป็นการลดการแผ่กระจายของสนามแม่เหล็กที่เกิดจากจอภาพด้วย (ในจอ CRT) อีกทั้งการจัดวางอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆอย่างเมาะสม เลือกเปิดและปิดอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ไม่จำเป็นออกบางอย่างเช่น Printer, Scanner เป็นต้น เป็นการช่วยลดปริมาณความร้อนได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งการลดการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้เต้าเสียบร่วมกันมากๆ และประการสุดท้ายคือ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการบอกปริมาณการใช้ไฟฟ้า เพื่อจะได้ทราบว่า เราได้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ประหยัดพลังงานมาใช้งานจริง
เพียงแค่เราลองตรวจสอบการจัดวางคอมพิวเตอร์ของท่าน เพิ่มหลอดไฟในกรณีที่มืดเกินไป ทำการพักเครื่องหรือปิดเมื่อเลิกใช้งาน เราก็จะได้รับการรักษาสุขภาพจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราเอง และลดอาการแทรกซ้อนที่ผิดปกติที่จะเกิดกับร่างกายเราในระหว่างการใช้งาน รวมทั้งยังช่วยเราประหยัดเงินได้อีกเล็กๆน้อยๆด้วย แต่ รู้สึกว่าส้มตำเมื่อตอนเที่ยงจะสำแดงฤทธิ์ซะแล้ว ต้องขอตัวไปก่อน เจอกันในคอลัมน์หน้านะครับ
Mr. Jing Jun (05/04/1999)
This articles is the parts of Netzine (1999) Archived
No comments:
Post a Comment
Give a comment ...